
~~ อย. บูรณาการ ลุยเข้ม ร่วมกับ บก.ปคบ. , สบส. และ สสจ.ชลบุรี ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี บุกจับบุคคลที่แอบอ้างเป็นหมอ ชื่อ “หมอหนุ่ม อนุวัฒน์ ทับคง” หลังสืบพบว่าสั่งจ่ายยาแคปซูลแผนโบราณให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติหลายราย รวมทั้งสาวชาวฮ่องกง จนทำให้เกิดแขนขาชา เนื่องจากตรวจพบสารหนูเกินมาตรฐานในปัสสาวะผู้ป่วย แจ้งดำเนินคดีโทษทางอาญาสูงสุดทั้งจำและปรับ เตือนผู้ป่วย อย่าได้หลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างเป็นหมอ ที่โฆษณารักษาสารพัดโรคตามสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ขอให้ตรวจสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะจากบุคคลตามสื่อ ตรวจสอบยาที่ได้รับว่ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือไม่ เพื่อมิให้ได้รับยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำ เมื่อเจ็บป่วย ขอให้ไปรักษา ณ สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง เพื่อมิให้ได้รับอันตรายจากการรักษาและการใช้ยา
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา , น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ , นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.ทรงโปรด สิริสุขะ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีพบหญิงสาวชาวฮ่องกง มีอาการป่วยแขนขาชา หลังจากกินยาแคปซูลสมุนไพรเพื่อรักษาอาการผื่นผิวหนังอักเสบที่ซื้อมาจากประเทศไทย แพทย์ตรวจพบปริมาณสารหนูในปัสสาวะสูงกว่ามาตรฐาน นั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง และไม่อยากเห็นผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงมิให้กระทบกับภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจึงสั่งการให้ อย. ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ. , กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี สืบสวนแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาแคปซูลที่มีปัญหาและสถานที่ที่ผู้ป่วยไปรักษา จนพบว่ามีผู้แอบอ้างเป็นหมอสั่งจ่ายยาสมุนไพรให้ผู้ป่วย อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ อย. , ตำรวจ บก.ปคบ. , กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ไปยังสถานที่เป้าหมายโดยนำหมายค้นเข้าตรวจสอบ บ้านเลขที่ 16 ม.6 ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ผลการตรวจพบสถานที่ดังกล่าว เปิดเป็นร้านขายยาแผนโบราณ แต่มีการรับรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง โดยเฉพาะ โรคสะเก็ดเงิน หรือ เรื้อนกวาง มีการโฆษณารักษา โรคสะเก็ดเงินด้วยยาสมุนไพร โดยหมอหนุ่ม อนุวัฒน์ ทับคง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี ขณะตรวจ พบนายอนุวัฒน์ ทับคง หรือหมอหนุ่ม กำลังรักษาผู้ป่วยและพบคนงานกำลังนำผงสมุนไพรสีน้ำตาล มีชื่อระบุว่า สะเก็ดเงินบรรจุใส่ปลอกแคปซูล ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตสถานพยาบาลและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย อีกทั้งไม่มีใบอนุญาตผลิตยาแต่อย่างใด โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดครั้งนี้ อาทิ
- ยาหม่อง บุญบาล์ม
- ขี้ผึ้งรักษาโรคสะเก็ดเงิน
- กระปุกยารักษาคนไข้ชนิดผง
- ยาเม็ดบดอัดทำเอง
- สมุนไพรฝุ่นหอมปราบเกลื้อน
- น้ำมันไพร
- ยาเม็ดแคปซูล
นอกจากนี้ ยังพบกระปุกยารอการบรรจุทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางและส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 2 แสนบาท ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้
1. ผลิตยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
2. ผลิตและขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ
ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อโฆษณา ขายยาแผนโบราณที่อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค และขายผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะอาจได้รับยาที่มีส่วนผสม ของสารอันตราย กรณีที่ตรวจพบสารหนูในยาแผนโบราณที่จับได้นี้ จะทำให้เกิดอันตราย มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานในขนาดที่สูงมากอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต อาการที่พบ เช่น อาการไข้ เบื่ออาหาร ตับโต หัวใจเต้นผิดปกติ และหากได้รับสารหนูบ่อยๆ จะเกิดการสะสม และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ในระยะยาว ส่วนปรอทที่ผสมในยาแผนโบราณ อาจจะทำให้เป็นพิษ โดยมีอาการปากเปื่อย เหงือกอักเสบ ฟันหลุด น้ำลายไหลมากผิดปกติ และ ไตวาย เป็นต้น ที่สำคัญไม่ควรไปรับการรักษากับสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาล และผู้รักษาไม่ได้จบแพทย์โดยตรงเด็ดขาด ดังนั้น ควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตถูกต้อง หรือร้านยาคุณภาพ และควรตรวจสอบฉลากยา โดยฉลากต้องระบุชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา เป็นต้น ทั้งนี้ อย. จะดำเนินการตรวจสอบพร้อมเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายยาและโฆษณาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการดำเนินงานเชิงรุกของ อย. ที่จะเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ยา หากพบแหล่งขายยาใดคาดว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พบยาต้องสงสัยและไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือพบเห็นเว็บไซต์ที่มีการโฆษณารักษาและขายยาที่ผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนแจ้งมายัง สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ สายด่วน สบส. โทร. 02 1937999 หรือ สายด่วน ปคบ.1135 หรือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ ที่พบการกระทำผิดดังกล่าว เพื่อ อย. จะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามตรวจสอบจับกุมและลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดต่อไป