
คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (คกอช.) เห็นชอบสนับสนุนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เพื่อนำความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาสู่ประเทศ เน้นดำเนินการในระดับพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งจากรากฐานระดับชุมชนและหน่วยประกอบการ ตลอดจนผลักดันประเด็นนโยบายสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและผลิตอาหารที่มีคุณภาพความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกันขจัดปัญหาทุพโภชนาการตลอดช่วงวัย ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ไม่เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากอาหาร
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธานในการประชุม นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนางสาวดุจเดือน ศศะนาวินเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการอาหารของประเทศแต่พบว่าการดำเนินการด้านอาหารตลอดห่วงโซ่มีความซับซ้อน แม้ที่ผ่านมาประเทศจะประสบความสำเร็จ ในการผลิตสินค้าและส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก แต่เพื่อการเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเห็นควรเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการโดยคำนึงถึงสัมฤทธิ์ผลร่วมกัน เน้นดำเนินการในระดับพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งจากรากฐานระดับชุมชนและหน่วยประกอบการ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ไม่เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากอาหาร
การประชุมในวันนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อชาวไทยและชาวโลกอันจะส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน ดังนี้ ด้านความมั่นคงอาหาร มุ่งที่การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning), การเกษตรที่แม่นยำ (Precision Farming) อันเป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูแลพื้นที่การเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร รวมถึงนโยบายเกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เน้นการบูรณาการหน่วยงานตลอดห่วงโซ่เพื่อการจัดการผักและผลไม้ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำ (ฟาร์ม/เกษตรกร) กลางน้ำ (แหล่งรวบรวม/โรงคัดบรรจุ/แหล่งจำหน่าย) และปลายน้ำ (ผู้บริโภค) และด้านการสร้างความเชื่อมโยงอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ได้เสนอการส่งเสริมสุขภาพ ในชุมชนอย่างบูรณาการ การผลักดันให้ใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพ