ระวัง !! อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาสมุนไพรสลายไขมัน “มาเมะ” พบแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เปิดเพจแอบอ้างใช้ชื่อ กระทรวงสาธารณสุขผ่านทาง Social Media
1 ธันวาคม 2558

     อย.เตือนภัยผู้บริโภค อย่าได้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรสลายไขมันยี่ห้อ “มาเมะ” หลอกขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผ่านทาง สื่อ Social Media พบไม่ได้ขออนุญาต กับ อย.และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซ้ำยังเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา เพราะอาจเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็น เผยมีมาตรการเฝ้าระวัง และติดตามปราบปรามอย่างเคร่งครัด หากพบการนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาเผยแพร่ จะได้รับโทษตามกฎหมาย 

     ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับแจ้งจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีให้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังเพจ Facebook  ชื่อ “สมุนไพรสลายไขมัน ของแท้จากกระทรวงสาธารณสุข” สืบเนื่องจากการที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีว่ามีการบรรจุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก และสงสัยว่าลักลอบใส่สารลดความอ้วนลงไปในผลิตภัณฑ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สนธิกำลังลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี และ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบ

บ้านเลขที่ 76 ซอยราชธานี 1 ถนนราชธานี  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ “มาเมะ” แบ่งบรรจุในขวดผลิตภัณฑ์และบรรจุหีบห่อ โดยมีผลิตภัณฑ์บางส่วนได้บรรจุใส่ในกล่องพัสดุไปรษณีย์เตรียมส่งให้ผู้สั่งซื้อสินค้า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาต กับ อย. และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จึงได้ทำการยึดของกลางไว้เป็นหลักฐานพร้อมส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป

      นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาจำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยใช้ชื่อเพจว่า “สมุนไพรสลายไขมัน ของแท้จากกระทรวงสาธารณสุข”พบว่ามีการส่งเสริมการขายพาดพิงไปที่ผู้จำหน่ายในจังหวัดอื่น และแอบอ้างใช้ชื่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการโฆษณา ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยตรงและรวดเร็ว ทำให้มีผลกระทบในวงกว้าง บางเว็บไซต์ ไม่มีข้อมูลชื่อและที่ตั้งชัดเจนทำให้ยากต่อการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ดำเนินการประสานงานไปยังคณะอนุกรรมการดำเนินการสืบสวน จับกุม ปราบปราม และกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร่วมดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว

     รองเลขาธิการ อย.กล่าวในตอนท้ายว่า อย. และ กระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยอนุญาตหรือรับรองสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่าสามารถ บำบัด บรรเทา รักษาอาการของโรคได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างว่าสามารถลดน้ำหนักแล้วได้ผล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับอนุญาตจาก อย. จะเป็นการรับรองในคุณภาพมาตรฐานว่าปลอดภัยเท่านั้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ มีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย การที่ผู้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางคนพึงพอใจว่าช่วยให้อาการดีขึ้นนั้น อาจเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เมื่อได้รับสารอาหารที่มีในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นก็มีอาการดีขึ้น ซึ่งการได้รับสารอาหารจากอาหารปกติจะช่วยได้เช่นกัน การจะลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้ดีนั้น ผู้บริโภคต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันโรคได้ ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 Email: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
มาเมะ
สมุนไพรสลายไขมัน