
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับ สสจ. กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตน้ำปลาร้า พบผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้า ไม่มีเลข อย. และผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต อย. มีความห่วงใยผู้บริโภค ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแนะผู้บริโภค ควรเลือกซื้อน้ำปลาร้า โดยมีฉลากแสดงเลขสารบบอาหารภายใต้เครื่องหมาย อย. เพื่อป้องกันการได้รับอาหารที่ไม่สะอาด หรือมีสิ่งเจือปน
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตำรวจภูธรภาค 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอำเภอยางตลาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอยางตลาด และตำรวจท้องที่ สภ. นากุง เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตน้ำปลาร้า เลขที่ 59 หมู่ 3 บ้านท่าเรือ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการจำหน่ายน้ำปลาร้าบรรจุขวดปิดสนิท โดยไม่มีเลข อย. ที่ตลาดศรีเมืองทอง จ.ขอนแก่น และมีแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า มีการผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการใช้กากน้ำปลา กากปลาไส้ตัน ปลากะตัก และไส้ปลาเป็นวัตถุดิบแต่มีการแสดงฉลากว่า น้ำปลาร้า ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ในเบื้องต้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ตั้งข้อหากับผู้กระทำความผิดไว้ 2 ข้อหา คือ 1) การผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งงดผลิตจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร 2) การแสดงฉลากเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ถือเป็นการผลิตอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันถึงหนึ่งแสนบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าดังกล่าวทางห้องปฏิบัติการ หากพบสิ่งที่เป็นอันตรายปลอมปนหรือเจือปนอยู่ในตัวอย่างอาหาร ก็จะแจ้งข้อหาเพิ่มเติม คือ การผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ น้ำปลาร้าที่นำไปใช้ในลักษณะเครื่องปรุงรส จัดเป็นซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทซึ่งต้องแสดงฉลาก โดยต้องแสดงรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้ ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหารภายใต้เครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก ข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร และวันเดือนและปีที่อาหารยังมีคุณภาพดี โดยมีข้อความ “ควรบริโภคก่อน” กำกับ ทั้งนี้ สถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP)
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การเลือกซื้อน้ำปลาร้า ขอให้ผู้บริโภคสังเกตสภาพภายนอกของบรรจุภัณฑ์ ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสม และมีรายละเอียดบนฉลากอาหารให้ครบถ้วน ที่สำคัญจะต้องมีการแสดงเลขสารบบอาหารภายใต้เครื่องหมาย อย. เพื่อแสดงว่า ได้รับอนุญาตจาก อย. และ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือ Email: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป