
อย.ขานรับนโยบายรัฐบาล ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพารา ขอความร่วมมือผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ที่ผลิตจากยางพาราให้ใช้น้ำยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น ปรับลดขั้นตอนการออกหนังสือรับรองการผลิตเครื่องมือแพทย์นำระบบ Online และระบบ Fast track เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อการส่งออก เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ยางพาราตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรชาวสวนยางในประเทศประสบปัญหาความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนการใช้น้ำยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยาง ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในภารกิจการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพารา ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือสำหรับการศัลยกรรม และถุงมือสำหรับการตรวจโรค เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในความดูแลของ อย. ทั้งนี้ อย.จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีการใช้น้ำยางเป็นส่วนประกอบให้เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ อย.ยังส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อการส่งออกให้มีความสะดวก และสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันด้านความรวดเร็วในการวางตลาด จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อการส่งออก โดยขยายอายุหนังสือรับรองการผลิตเพื่อการส่งออก จากเดิมที่มีอายุ 2 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตเพื่อการส่งออกและสนับสนุนผู้ผลิตให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง และในอนาคตผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ประสงค์จะผลิตเพื่อส่งออก จะสามารถขอหนังสือรับรองการผลิตเพื่อการส่งออกผ่านระบบ online ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการจ่ายค่าคำขอ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รายงานการผลิต นำเข้า ขาย เครื่องมือแพทย์ และระบบ Fast track ในการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำยางดิบของไทย รวมทั้ง สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์จากยางพารา โดยมีบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2559 อย. ได้เชิญผู้ผลิตถุงยางอนามัย ผู้ผลิตถุงมือสำหรับการตรวจโรค ผู้ผลิตถุงมือสำหรับการศัลยกรรม และผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่ใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนประกอบมาประชุมหารือ และจากการสำรวจบริษัทผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์ 9 บริษัท และผู้ผลิตถุงมือยาง 6 บริษัทพบว่ามีปริมาณการใช้น้ำยางในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือตรวจโรค ถุงมือผ่าตัด และถุงยางอนามัยระหว่างปี พ.ศ.2556 - 2558 โดยเฉลี่ยเกือบ 65,000 ตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบการนำเข้าน้ำยางเป็นวัตถุดิบจากต่างประเทศ พบว่าใช้น้ำยางในประเทศในการผลิต คิดเป็น 90% สำหรับถุงมือยางทางการแพทย์ และ 83% สำหรับถุงยางอนามัย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการนำไปวางแผนพัฒนาการใช้ยางพาราสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาราคาน้ำยาง และสนับสนุนการใช้น้ำยางพาราในประเทศได้อย่างยั่งยืน