อย. เปิดมิติใหม่ รับ AEC แถลงผลสำเร็จให้ความรู้แรงงานต่างด้าว เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ จากกิจกรรม “อะมะฉลาดใช้ อะโก่ฉลาดซื้อ”
7 มีนาคม 2559

          อย. เผย ผลสำเร็จการจัดกิจกรรม “อะมะฉลาดใช้ อะโก่ฉลาดซื้อ” จากโครงการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ภายใต้แนวคิด “แรงงาน AC (Asean Community) สุขภาพดี บริโภคปลอดภัย” เดินสายลงพื้นที่รณรงค์ให้กับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะชาวเมียนมาในสถานประกอบการผลิตอาหาร 4 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยรูปแบบให้ความรู้การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย โดยการดูสัญลักษณ์ของฉลาก อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ พบแต่ละสถานที่มีชาวเมียนมา เฉลี่ย 300-700 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม และจากการเล่นเกมตอบคำถามหลังมีการรณรงค์เสร็จสิ้น ส่วนใหญ่มีความเข้าใจในการดูสัญลักษณ์  ต่าง ๆ บนฉลากผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างถูกต้อง และพร้อมจะให้ความสำคัญ ในการอ่านฉลากเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชุมชนแรงงานต่างด้าว บริโภคปลอดภัย ห่างไกลโรคร้าย และไม่เป็นภาระด้านการสาธารณสุขของประเทศ สอดรับกับการเข้าสู่ AEC ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือร่วมใจกันจัดการปัญหาสังคม ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ปัญหาโรคระบาด ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ การคุมกำเนิด ฯลฯ อย่างยั่งยืน

          วันนี้ (4 มีนาคม 2559) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 1 ตึก อย. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทุกเชื้อชาติต้องมีสุขภาพที่ดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมและสาธารณสุข โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข  ทั้งนี้ การเริ่มต้นให้แรงงานต่างด้าวหันมาใส่ใจการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในเมืองไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องส่งเสริมพัฒนาให้แรงงานต่างด้าวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบกับการเข้าสู่ AEC ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559   ซึ่งจะมีแรงงานต่างด้าวทยอยเข้ามาทำงานในประเทศเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเมียนมา ภาครัฐจึงจำเป็นต้องดูแลคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศอย่างทั่วถึง จึงทำให้เกิดโครงการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “แรงงาน AC (Asean Community) สุขภาพดี บริโภคปลอดภัย” ที่ อย. ได้จัดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นี้ ด้วยการจัดรูปแบบกิจกรรมรณรงค์ ในพื้นที่ซึ่งมีแรงงานต่างด้าว (ชาวเมียนมา) ทำงานเป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยเมื่อวันที่  3 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด , วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) , วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งการรณรงค์ทั้ง 4 ครั้งนี้ ประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องฉลากอาหาร ฉลากยา ฉลากเครื่องสำอางและฉลากเครื่องมือแพทย์ ให้สามารถคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นบนฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองได้ รวมถึงยังสอนวิธีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นับเป็นการติดอาวุธทางปัญญาอีกด้านหนึ่งให้แก่แรงงานต่างด้าว พร้อมกันนี้ ยังมีซุ้มเล่นเกมตอบคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้มีการจัดทำเอกสารแผ่นพับ คู่มือความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวด้วยภาษาเมียนมา และยังจัดล่าม ชาวเมียนมา เพื่อให้กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาได้รับข้อมูลที่เข้าใจง่ายในภาษาของตนเอง ซึ่งผลการจัดงาน แต่ละแห่งจะมีชาวเมียนมาให้ความสนใจเข้าร่วมเฉลี่ย  300 – 700 คน ทั้งนี้ จากการประเมินส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้นเกือบ 90% และเกือบ 90% เช่นกัน ให้การตอบรับว่าจะสังเกตข้อความบนฉลากก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง โดยเฉพาะจะดูวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อน ส่วนการให้ความรู้เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยและการใช้ยาคุมกำเนิด ได้รับการตอบรับจากทั้งแรงงานชายและหญิงเช่นกันในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป นับได้ว่าการจัดทั้ง  4 ครั้งประสบความสำเร็จอย่างสูงที่ทำให้แรงงานชาวเมียนมา รู้จักการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารปนเปื้อน ลดปริมาณการบริโภคผงชูรส ลดความเสี่ยงในการบริโภคยาที่เสื่อมคุณภาพ ลดความเสี่ยงในการใช้เครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ สามารถเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ที่สำคัญพร้อมใจกันอ่านฉลากก่อนซื้อ นอกจากการจัดรณรงค์ในโรงงานแล้ว อย. ได้จับมือกับเครือข่ายลงไปให้ความรู้และนำชุดทดสอบจากรถโมบายไปตรวจสอบตัวอย่างอาหารในตลาดสดและแหล่งชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานอีกด้วย โดยเน้นย้ำว่า เมื่อคนในโรงงานบริโภคปลอดภัย นอกโรงงานที่เป็นชุมชนก็ต้องบริโภคปลอดภัยด้วย ทุกคนถือเป็นพี่น้องที่อยู่ร่วมสังคมในประเทศเดียวกัน     

          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข กล่าวต่อไปว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายฝ่ายที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรภาคประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุข นอกจากนี้ การดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จไม่ได้ ถ้าโรงงานที่เป็นสถานประกอบการทั้ง 4 แห่งไม่ให้ความสำคัญ ดังนั้น อย. จึงมีการมอบโล่เพื่อเป็นการขอบคุณให้แก่สถานประกอบการอาหารทั้ง 4 แห่งข้างต้น รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดกิจกรรมสามารถเข้าถึงแรงงาน ต่างด้าวและชุมชนรอบ ๆ จนเสร็จสิ้นโครงการและประสบความสำเร็จ ที่สำคัญทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 2 แห่งเห็นประโยชน์ของการจัดกิจกรรมให้แรงงานต่างด้าวและจะเดินหน้าต่อในการรณรงค์เพื่อให้ครอบคลุมโรงงานทุกแห่งที่มีแรงงานต่างด้าวไม่เฉพาะชาวเมียนมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย. จะมีแผนการจัดกิจกรรมดี ๆ รูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานหรือมาอาศัยในประเทศไทย เพราะเล็งเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน อันที่จะมีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่แรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืนต่อไป หากผู้บริโภคมีข้อแนะนำหรือติชมการดำเนินงานของ อย. สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556

แท็กที่เกี่ยวข้อง
บุญชัย สมบูรณ์สุข
อะมะฉลาดใช้ อะโก่ฉลาดซื้อ
แรงงาน AC (Asean Community)