อย. แจง มีการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ต่อเนื่อง
11 พฤษภาคม 2559

          อย. เผยมีการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ทุกปี ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย พร้อมยกระดับมาตรการการจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงโดยการล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน

          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงผลเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ปี 2559 และพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักผลไม้จำนวนมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า การกำกับดูแลความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้อยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงาน ในส่วนของ อย. ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ที่จำหน่ายภายในประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี  โดยหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Units) ซึ่งดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 12 เขตบริการสุขภาพ และ กรุงเทพมหานครฯ โดยตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น (Screen Test) ด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย (GT-Test Kit) ผลการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ตั้งแต่ปี 2556-2559 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2559) พบตกมาตรฐาน ร้อยละ 3.68 , 3.09 , 2.18 และ 1.61 ตามลำดับ จากจำนวนตัวอย่างผักผลไม้ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 65,387    59,630   58,561  และ 30,475 ตัวอย่าง

          นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้นำเข้า ณ ด่านอาหารและยา จำนวน 44 แห่ง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2556-2558  พบตกมาตรฐาน ร้อยละ 4.95 , 7.21 , และ 1.08 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 1,092  929  และ 1,202 ตัวอย่าง  ซึ่ง อย. ได้ดำเนินการเรียกคืนสินค้าและดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งจะถูกเข้าสู่ระบบกักกันในการนำเข้าครั้งต่อไป จนกว่าจะได้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย จึงจะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ 

          รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการในการจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยการยกระดับการกำกับดูแล สถานที่ตัดแต่งและบรรจุผักหรือผลไม้สดกำหนดให้ผักหรือผลไม้สดบางชนิดที่ผ่านกระบวนการตัดแต่งและบรรจุ ต้องมาจากแหล่งเพาะปลูกที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ปลอดภัย และต้องมี การแสดงฉลาก สัญลักษณ์บ่งชี้รุ่นการผลิต ที่สามารถตามสอบย้อนกลับ(Traceability) ได้   ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นของคณะอนุกรรมการ รวมทั้งมีแนวทางการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโดยบูรณาการการดำเนินงานเฝ้าระวังผักและผลไม้ทั้งในประเทศและนำเข้าร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้มีการพัฒนาศักยภาพด่านอาหารและยา โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าผักหรือผลไม้สดที่ผ่านการตัดแต่งและบรรจุ  ต้องแสดงใบรับรองสถานที่ตัดแต่งและบรรจุผักหรือผลไม้สดด้วย

          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม กล่าวในตอนท้ายว่า ในการแก้ปัญหาความเสี่ยงจากการบริโภคผักและผลไม้ สามารถทำได้โดยการล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนนำไปบริโภค เพื่อลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที จะช่วยลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 54-63 การลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกแล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 27-72 การใช้ความร้อนต้มหรือลวกผ่านด้วยน้ำร้อน ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 48-50 การแช่ด่างทับทิมนาน 10 นาที (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ดผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาด ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 35-43  และการใช้เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำอุ่น 20 ลิตร แช่นาน 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  ร้อยละ 80-95

แท็กที่เกี่ยวข้อง
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ไพศาล ดั่นคุ้ม