มิติใหม่ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ประกาศฯ ใช้ “สัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo)” แล้วภาคเอกชนขานรับนโยบาย พร้อมปรับสูตรอาหาร หวังให้ผู้บริโภคสุขภาพดี
24 พฤษภาคม 2559

          อย. เดินหน้า ร่วมมือกับ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รุดหารือแนวทางและแผนการประชาสัมพันธ์ “สัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo)”  หลังประกาศฯ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 59 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวางไปยังผู้บริโภคให้เข้าใจและเลือกซื้ออาหารที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์แล้วจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดอย่างรวดเร็ว เผย ภาคเอกชนตอบรับการใช้สัญลักษณ์ พร้อมปรับสูตรอาหาร ลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม หวังยกระดับการส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรค NCDs ล่าสุด มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 9 บริษัท และจะขยายให้ครอบคลุมต่อไป

          วันนี้ (19 พฤษภาคม 2559) ณ โรงแรมริชมอนด์ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานเปิดการประชุมหารือแนวทางและแผนการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) ซึ่ง อย. ได้ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559   เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการป้องกันปัญหาภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล  ในการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา

          ทั้งนี้ ได้จัดทำเกณฑ์สารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการที่ใช้ประกอบพิจารณารับรองการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ และกลุ่มอาหารที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว 3 กลุ่ม ดังนี้ อาหารมื้อหลัก, เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่างๆ น้ำนม    ถั่วเหลือง น้ำธัญพืช และเครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำปลา และซีอิ้ว ดังนั้น จึงมีการจัดประชุมผู้ประกอบการ ด้านอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบการใช้ตรารับรองสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Logo) และร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์โภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่า มีผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการออกสู่ท้องตลาดแล้ว สามารถเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมต่อสุขภาพ รวมทั้ง หวังให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ตราสัญลักษณ์นี้   บนฉลากผลิตภัณฑ์  และให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา

          นพ.บุญชัย เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การประกาศฯ ใช้สัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ผู้ประกอบการให้ความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีกับภาครัฐ พร้อมที่จะปรับสูตรอาหารให้เข้าตามหลักเกณฑ์ ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 9 บริษัท แยกเป็น กลุ่มเครื่องดื่ม 22 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าหลังจากมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้  และมีการประชาสัมพันธ์เต็มรูปแบบจะมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการเพิ่มมากขึ้น อย. เชื่อมั่นว่าการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร  จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ลดปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs
NCDs
สัญลักษณ์โภชนาการ
บุญชัย สมบูรณ์สุข
Healthier Logo