อย. เตือน ทำฟันปลอมเถื่อนเสี่ยงอันตรายในช่องปาก
7 ตุลาคม 2559

          อย. เตือนประชาชนอย่าใช้บริการรับทำฟันปลอมเถื่อน เนื่องจากวัสดุ และเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานไม่มีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้ให้บริการไม่ใช่ทันตแพทย์ ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำฟันปลอม เสี่ยงเกิดอันตรายและติดเชื้อในช่องปาก

           ภก.ประพนธ์  อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษก อย. เปิดเผยว่าในปัจจุบันพบว่ามีประชาชนบางส่วนไปรับบริการทำฟันปลอมเถื่อนตามตลาดนัด แผงลอยริมถนนและห้างสรรพสินค้า ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเห็นว่ามีราคาถูก และสะดวกรวดเร็วสามารถรอรับฟันปลอมได้ทันที แต่การใช้บริการรับทำฟันปลอมเถื่อนเหล่านี้อาจเกิดการติดเชื้อหรือการเกิดโรคในช่องปาก เนื่องจากสถานที่ทำฟันปลอมเถื่อนเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข สถานที่มักไม่สะอาดตามสุขอนามัยที่ดี เครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐานไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งานในผู้รับบริการแต่ละคน อีกทั้งผู้ให้บริการไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะและไม่ทราบขั้นตอนรวมถึงวิธีการในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง  รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการทำฟันปลอมไม่เหมาะสม มักจะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะอาด ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะในช่องปาก

          อันตรายที่อาจเกิดจากการทำฟันปลอมเถื่อนมีหลายรูปแบบ เช่นการออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก รวมทั้งอาจเกิดการสบฟันที่ผิดปกติ เกิดแผลจากการสบของฟันบริเวณลิ้นหรือกระพุ้งแก้มและลุกลามกลายเป็นแผลเรื้อรัง ทั้งนี้ การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้ว การแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะเป็นไปด้วยความลำบาก

          รองเลขาธิการอย. กล่าวในตอนท้ายว่าฟันปลอม จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งประชาชนที่ต้องการทำฟันปลอม ควรขอคำแนะนำและรักษาจากทันตแพทย์จากสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยถูกต้อง เช่น โรงพยาบาลหรือคลินิกทำฟัน เพื่อประชาชนจะได้รับการดูแลและคำแนะนำจากทันตแพทย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมช่องปากจนถึงหลังจากใส่ฟันปลอมเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี โดยผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมในการเบิกตามสิทธิต่างๆตามต้นสังกัด และควรหาข้อมูลของทันตแพทย์และสถานพยาบาลที่จะเข้ารับบริการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของทันตแพทยสภา

          ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือหากได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วนอย.1556หรือEmail:1556@fda.moph.go.thหรือตู้ปณ.1556ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุขจ.นนทบุรี11004หรือผ่านทาง OryorSmartApplicationหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ประพนธ์ อางตระกูล
ฟันปลอมเถื่อน