วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR)
24 พฤษภาคม 2562

      โรคหัด (Measles) อาการแสดง คือ มีไข้ มีน้ำมูก ตาแดง และมีผื่นที่ร่างกาย ซึ่งโรคหัดอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในหู ท้องร่วง และการติดเชื้อในปอด ทำลายสมอง และอาจส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  

      โรคคางทูม (Mumps) อาการแสดง คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำลายหลังใบหูบวม กดเจ็บ ความรุนแรงของโรคคางทูมอาจทำให้หูหนวก สมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

       โรคหัดเยอรมัน (Rubella) อาการแสดง คือ มีไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้นตามตัว ปวดหัว และเคืองตา บางครั้งอาจมีอาการปวดข้อได้ หากติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้ง หรือเด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติได้

       เราสามารถป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัคซีน MMR โดยผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้ คือ เด็กทุกคน (ยกเว้นบางกรณี)  ในเด็กควรฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่ออายุ 9-12 เดือนขึ้นไป และครั้งที่สอง เมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนผู้ที่ไม่ควรได้รับวัคซีนนี้ หรือควรหลีกเลี่ยง คือ ผู้ที่แพ้ยานีโอมัยซิน เจลาตินรุนแรง หรือเคยมีปฏิกิริยารุนแรงกับวัคซีน MMR หญิงตั้งครรภ์ (หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนหลังรับวัคซีนนี้) ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานมากกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี) ผู้ที่ได้รับเลือด อิมมูโนโกลบูลิน หรือผลิตภัณฑ์จากเลือด (ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากต้องเว้นเวลาในการให้วัคซีน) หลังจากฉีดวัคซีน MMR อาจมีอาการข้างเคียง ดังนี้ ปวดแขนเนื่องจากฉีดยา มีไข้ มีผื่นแดงในบริเวณที่ฉีด ชัก (กระตุกหรือตาแข็ง) มักพบร่วมกับอาการไข้ ข้อต่อเจ็บ และแข็งชั่วคราว มีอาการเลือดออกหรือช้ำผิดปกติ

      อีกเรื่องที่หลายคนสับสนกับการให้วัคซีน แท้จริงแล้ว เป็นหวัดเล็กน้อย ที่ไม่มีไข้ สามารถให้วัคซีนได้ แต่หากมีไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน และผู้ปกครองควรเก็บบันทึกการรับวัคซีนทุกชนิดของเด็กไว้ตลอดไป เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันว่าเด็กมีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคใดบ้างแล้ว

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
วัคซีน
วัคซีนพื้นฐาน