เมื่อมีอาการปวดต้องกินยาแก้ปวดให้หมดแผงจริงหรือ?
15 มีนาคม 2564

           อาการปวดสร้างความทรมาน และรบกวนชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน การใช้ยาแก้ปวดเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาปวด เพราะหาซื้อได้ง่าย และบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว

          แม้การใช้ยาแก้ปวดจะเห็นผลอย่างรวดเร็ว แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อันตราย การใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีคำถามที่ว่าหากมีอาการปวด จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดให้หมดแผงจริงหรือไม่ คำตอบคือ ไม่จริง ควรใช้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานให้หมดแผง

          ยาแก้ปวดนั้นมีหลายชนิด โดยทั่วไปมักใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดเพื่อบรรเทาอาการปวดในระดับน้อย ถึงปานกลาง เช่น ยาพาราเซตามอล(Paracetamol) และยากลุ่ม NSAIDs ซึ่งจะใช้เมื่อมีอาการปวดเท่านั้น และไม่ควรรับประทานต่อจนหมดแผง เพราะไม่ได้ใช้รักษาสาเหตุของอาการปวด ดังนั้นการรับประทานยาแก้ปวดขณะที่ไม่มีอาการปวดไม่ได้ช่วยให้สาเหตุของการปวดหายได้ และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้

          ตัวอย่างผลข้างเคียงของยาแก้ปวด

  • ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ระคายเคือง/เกิดแผลในทางเดินอาหาร การทำงานของไตลดลง รบกวนการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลทำให้หลอดลมหดตัว
  • ยาพาราเซตามอล(Paracetamol)  เช่น เวียนหัว เกิดผื่น การทำงานของตับลดลง

            จากข้างต้นจะเห็นว่าแม้ยาจะมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อันตราย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และเมื่อใช้ยาแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAfakenews
ผลิตภัณฑ์ยา
เช็กชัวร์แชร์
ยาแก้ปวด
ยาพาราเซจตามอล
ยาพาราเซตามอล
NSAIDs