3 ข่าวแชร์ผิด ๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19
11 ธันวาคม 2564

เพราะโรคโควิด-19 ยังไม่ไปไหนและยังมีการแพร่ระบาดอยู่เป็นระยะ ๆ  ทำให้หลายคนพยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อดูแลตนเอง และป้องกันไม่ให้ตัวเองเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19  จนอาจหลงเชื่อข่าวแชร์ผิด ๆ บนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งข่าวแชร์ดังกล่าวจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ มาติดตามกันได้เลย...

● แผ่นป้ายห้อยคอ สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้จริงหรือ ?

ตอบ   ไม่จริง เพราะโรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ที่แพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก หรือน้ำลาย ซึ่งโอกาสในการติดเชื้อส่วนใหญ่จะผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง แล้วมาจับจมูก ปาก ตา ฉะนั้น ข่าวแชร์ที่ว่า หากใช้แผ่นป้ายห้อยคอหรืออุปกรณ์ห้อยคอในรูปแบบต่าง ๆ ในสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณว่า สามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา ช่วยกรองอากาศ สามารถป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสในอากาศได้ โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยนั้น จึงไม่เป็นความจริง

● อย่าเชื่อ น้ำต้มกระเทียม รักษาไวรัสโคโรนา

ตอบ   ไม่จริง เพราะ กระเทียม เป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน มีสรรพคุณทางยาคือ ใช้บรรเทาอาการกลาก เกลื้อน ไม่ได้มีฤทธิ์ในการยับยั้งโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

● เรื่องแชร์ผิด ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรรักษา Covid-19

ในหัวข้อนี้โลกออนไลน์มีการนำสมุนไพรหลายชนิดมาแชร์กันผิด ๆ ว่ารักษาโรคโควิด-19 ได้ ได้แก่ กระชาย กระเจี๊ยบแดง ขิงและกระเทียม รวมถึงยาจีนเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล ซึ่ง กระชาย ขิง กระเทียม และกระเจี๊ยบแดง มีสรรพคุณทางยาใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับปัสสาวะ ส่วนยาจีนเหลียนฮัว
ชิงเหวินแคปซูล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุมัติทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่า
มีสรรพคุณ “ช่วยขจัดพิษ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก ไอ น้ำมูก เจ็บคอ” เท่านั้น เพราะฉะนั้น คำตอบคือ ไม่จริง

ฉะนั้น หากเจอข่าวแชร์ประเภทนี้ ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค
โควิด-19 และเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้องได้ ส่วนวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ ลดการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

วิธีป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือ ลดการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ใช้มาตรการกินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ

ยึดหลัก D-M-H-T-T

1.   D – Distancing รักษาระยะห่างทางสังคม 1 – 2 เมตร

 2. M – Mask wearing ใส่หน้ากากอนามัย

3.   H – Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล

4.   T – Testing ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือตรวจหาเชื้อโควิด-19

5.   T – Thaichana สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออก สถานที่สาธารณะทุกครั้ง

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

- https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/724

- https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/725

- https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_specify/744

- ข่าวปลอม อย่าแชร์! แผ่นห้อยคอป้องกัน COVID-19 - ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม | Anti-Fake News Center Thailand (antifakenewscenter.com)

- ข่าวปลอม อย่าแชร์! แผ่นป้ายห้อยคอ สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ - ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม | Anti-Fake News Center Thailand (antifakenewscenter.com)

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เช็กชัวร์แชร์
โควิด-19
สาระความรู้
FDAfakenews
กระเทียม
กระเจี๊ยบ
ขิง
กระชาย
โควิด-19
covid-19