แชร์ต่อกันเยอะมากกับสูตรชาสมุนไพรที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค จนทำให้หลายคนหลงเชื่อและเกิดความเข้าใจผิดนำไปทำตามจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและการรักษาโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ซึ่งจริง ๆ แล้วข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร สูตรชาสมุนไพรเหล่านี้จะรักษาโรคได้หรือไม่ มาติดตามกันเลย...
- ปอดสะอาดง่าย ๆ ทำได้ด้วยชาสมุนไพร จริงหรือ?
ไม่จริง เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการสะสมคราบน้ำมันดินในปอด ซึ่งการดื่มชาสมุนไพรนั้นไม่สามารถที่จะกำจัดออกได้ ดังนั้นการดูแลรักษาปอดที่ดีที่สุดคือ การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหรือควัน แต่หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง
- ดื่มชาสมุนไพรสามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ จริงหรือ?
ไม่จริง เนื่องจากชาสมุนไพรจัดเป็นอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 280) พ.ศ. 2547 เรื่อง ชาสมุนไพร และอนุญาตให้นำพืชสมุนไพรมาผ่านกรรมวิธีอย่างง่าย เฉพาะการทำแห้งและลดขนาดให้เล็กลงด้วยการตัด สับ หรือบดเท่านั้น เพื่อจุดมุ่งหมายในการบริโภคโดยการต้มหรือชงกับน้ำเท่านั้น ดังนั้น การดื่มชาสมุนไพร จึงไม่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ เพราะ ชา คือ อาหาร ไม่ใช่ ยา ไม่สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคใด ๆ ได้
- ชาตะไคร้ใบเตย สามารถรักษาโรคเกาต์ได้ จริงหรือ?
ไม่จริง เพราะโรคเกาต์มีสาเหตุมาจากการมีกรดยูริกในเลือดสูง ร่วมกับการมีผลึกของกรดยูริกในข้อ หรือเนื้อเยื่อรอบข้อ ทำให้ข้อหรือเนื้อเยื่อรอบข้อนั้นเกิดอาการอักเสบเฉียบพลัน ในขณะที่ตะไคร้มีสรรพคุณ ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดส่วนใบเตยนั้นช่วยแก้กระหายน้ำ จะเห็นได้ว่า ตะไคร้และใบเตย ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกาต์ได้เลย ฉะนั้น หากเป็นโรคเกาต์จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและเหมาะสม ดีกว่าที่จะมาเชื่อข่าวแชร์หลอกลวง
- ดื่มชาใบมะกรูดลดความดันโลหิตสูงได้ จริงหรือ?
ไม่จริง เพราะยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดความดันโลหิตของมะกรูดในสัตว์ทดลองหรือในคนโดยตรง (Ref. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร 8/4/2559) ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่ามัวเสียเวลากับสูตรลดความดันโลหิตสูงต่าง ๆ เลย
จากข้างต้นจะเห็นว่า “ชาสมุนไพร” ไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคใด ๆ เพราะ ชา จัดเป็นอาหาร ไม่ใช่ ยา ไม่สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคใด ๆ ได้ เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อข่าวแชร์ และอย่าทำตาม ทางที่ดี... หากป่วยมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ควรพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหรือรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง :
- ปอดสะอาดง่ายๆ ทำได้ด้วยชาสมุนไพร ไม่มีจริง
- ดื่มชาสมุนไพร ใช่ว่าจะรักษาโรคได้
- ชาตะไคร้ใบเตย ไม่สามารถแก้เกาต์ได้
- ชาใบมะกรูดลดความดันไม่ได้ ลดกินเค็มสิช่วยได้
- ชัวร์ก่อนแชร์ : ชาใบมะกรูดแก้ความดันสูง จริงหรือ ?