มะเร็งปากมดลูก กับ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(HPV)
17 พฤษภาคม 2560

 

                มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านมในประชากรหญิงไทย โดยในแต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 10,000 คน และเสียชีวิตถึง 5,000 รายต่อปี สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilomavirus หรือเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) สายพันธุ์ 16 และ 18 ทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเจริญผิดปกติ และเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(HPV)  จากสองสายพันธุ์ 16 และ 18 ขึ้นมา

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(HPV) มี 2 ชนิด ได้แก่  Quadrivalent vaccine (ชนิดไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18) และ Bivalent vaccine (ชนิดไวรัส 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18) โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี ควรได้รับให้ครบก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและก่อนการติดเชื้อ จึงจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้ร้อยละ 90-100 สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ววัคซีนไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ การป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี

                โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(HPV) มีความปลอดภัยสูง จึงไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง แต่จะพบอาการปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีน ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ผื่นคันตามตัว และอาจมีไข้ ดังนั้น หลังจากฉีดวัคซีน ควรนอนพักเพื่อสังเกตอาการ
อย่างน้อย 30 นาที และไม่ควรขับรถหรือเดินทางกลับบ้านคนเดียว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องการการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ยา
สุขภาพ
รักษาโรค
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งเต้านม
ติดเชื้อไวรัสHPV
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก