ป้องกันตนเองจากการแพ้ยา
18 กรกฎาคม 2560

การ “แพ้ยา” คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อยาที่ใช้ ไม่ว่าจะด้วยการกิน ฉีด ทา หยอด สูด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ ซึ่งตัวยาที่มักพบอาการแพ้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ลดไข้ หรือยาชา เป็นต้น ทั้งนี้อาการที่แสดงออกมาจะมีตั้งแต่เล็กน้อย ขึ้นเป็นลมพิษ ผื่นคัน ผื่นแดง ตุ่มเล็กใส ๆ ตามตัว ถ้าแพ้มากขึ้น ก็อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น แน่นหน้าอก แต่หากแพ้รุนแรงจะมีอาการตัวเย็น หน้ามืด ความดันต่ำ เกิดภาวะช็อกจากการแพ้ยาจนอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งโดยทั่วไปยาชนิดฉีดจะทำให้เกิดอาการรุนแรงและรวดเร็วกว่ายาชนิดกิน
แนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ยา มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- จำชื่อตัวยา หรือชื่อสามัญทางยาที่ตนเองแพ้
- แจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้ง ว่าตนเองแพ้ยาอะไร
- พกบัตรแพ้ยาติดตัวเสมอ และแสดงบัตรแพ้ยาทุกครั้งที่ไปรักษา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่ทราบชื่อ ยาชุด และยาซอง
- ถามชื่อยา สรรพคุณ วิธีใช้ อย่างละเอียด เมื่อต้องใช้ยาใด ๆ
- หากมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าแพ้ยา ให้หยุดยาทันที และนำตัวยาดังกล่าวไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร