
หลายคน เมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ถามว่าแพ้ยาไหม จะแจ้งว่าแพ้ยา เพราะมีอาการง่วง หลังรับประทานยา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะอาการง่วงนอนนั้น ไม่จัดว่าเป็นอาการแพ้ยา แต่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาเท่านั้น
การแพ้ยา จะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน จะเกิดขึ้นเฉพาะบางคนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความไวต่อยา หรือสิ่งเร้านั้น ๆ มากกว่าปกติ อาการของการแพ้ยา จะมีทั้งไม่รุนแรง ตั้งแต่ มีผื่นผิวหนัง ไปจนถึงรุนแรงขึ้น คือ มีอาการปากบวม ตาบวม หลอดลมตีบ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก จนอาจถึงขั้นชอคได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา จะเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ใช้ยา แต่อาการที่เกิดจะมาก หรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนไม่เท่ากัน ตัวอย่างผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น อาการง่วงนอน ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ จะสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า
ดังนั้น อาการง่วงนอน จึงไม่ใช่การแพ้ยา แต่เป็นเพียงผลข้างเคียงจากการใช้ยา ที่ทุก ๆ คนที่ใช้ยาก็จะเป็นเช่นกัน ตัวอย่างยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน-ง่วงซึม เช่น
1. ยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิรามีน(Chlorpheniramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine), คีโตติเฟน (Ketotifen)
2. ยาลดน้ำมูก เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), ไซโพรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)
3. ยาแก้ไอ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextrometrophan)
4. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น
ไดอะซีแพม (Diazepam), อัลพราโซแลม (Alprazolam)
การปฏิบัติตัวหากต้องใช้ยาที่มีผลข้างเคียง ทำให้ง่วงนอน-ง่วงซึม
- หลีกเลี่ยงการขับรถ และหลีกเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
- ห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ระวังการใช้ในเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้