ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพยาธิที่ปนเปื้อนในอาหาร
3 เมษายน 2561

หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวเรื่องของพยาธิที่ปนเปื้อนในอาหาร  แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็มีหลายคนยังคงมีคำถามสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับพยาธิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพยาธิมีกี่ชนิดและมักพบในอาหารแบบใดบ้าง หรือมีวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันอย่างไร รวมถึงจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องใช้ถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปี

ไขข้อข้องใจ : พยาธิมีกี่ชนิดและมักพบในอาหารแบบใด ?

พยาธิใบไม้ตับ

พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น

พยาธิตัวตืด

พบในเนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู  หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิปนเปื้อน

พยาธิไส้เดือนและ

พยาธิแส้ม้า

พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก

พยาธิตัวจี๊ด

พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น

พยาธิอะนิซาคิส

พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ

ไขข้อข้องใจ  : หลีกเลี่ยงพยาธิเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตุดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ และการบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น

- ผักสดหากจะรับประทานดิบ ๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

- ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร

ไขข้อข้องใจ  : ยาถ่ายพยาธิจำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกปีหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิประจำปีหากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ (เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ)  แต่หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ หรืออาการคันก้นเนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง
อาหาร
สุขภาพ
ฉลาดกิน
อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ไขมันดี
ไขมันไม่ดี
คอเรสเตอรอล
กรดไขมัน
ไตรกลีเซอร์ไรด์
LDL
HDL