สเปรย์ และยาทากันยุง เด็กเล็กควรระวัง
2 ธันวาคม 2563

           ยุงนอกจากถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของลูกน้อยแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย หากถูกยุงกัดแล้วเด็กวัยเล็ก ๆ จะมีอาการแพ้ยุงได้ง่าย เพราะภูมิต้านทานยังไม่ค่อยดี ดังนั้นนอกจากการป้องกันด้วยวิธีต่างๆ แล้ว โดยพ่อแม่หลายคนเลือกใช้ยาทากันยุงกับลูก ซึ่งความจริงแล้วควรใช้ หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ      

          สารออกฤทธิ์ในครีม โลชั่น หรือสเปรย์กันยุง แต่ละชนิดมักไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมากจะเป็นสารเคมี เช่น ดีอีอีที (DEET), อิคาริดิน (Icaridin), เอทิลบิวทิลอะซิทิลอะมิโนไพโอเนต (Ethyl Butylacetylaminopropionate) หรืออีกชื่อ คือ ไออาร์ 3535 (IR 3535) เป็นต้น

          สารออกฤทธิ์แต่ละชนิดมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกันไปขึ้นกับอายุเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์

  • ดีอีอีที (DEET) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 30%

ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 50% และ

ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับความเข้มข้นสูง ๆ เช่น 95%

  • อิคาริดิน (Icaridin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ไออาร์ 3535 (IR 3535) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นมากกว่า 12.5% และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สำหรับความเข้มข้นเท่ากับ หรือน้อยกว่า 12.5%
  • น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
  • น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

          การใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กควรให้ผู้ใหญ่เป็นคนทาให้ ไม่ควรให้เด็กใช้เอง และไม่ควรพ่น หรือผลิตภัณฑ์ใส่มือเด็ก หากต้องการทาบริเวณใบหน้า ห้ามพ่นไปที่ใบหน้าโดยตรง ให้พ่นใส่ฝ่ามือก่อนแล้วจึงค่อยนำไปทาที่ใบหน้า โดยไม่ให้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณแผล และหลังจากใช้งานเสร็จ หรือกลับมาอยู่ในห้องควรล้างผิวหนังบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ออกให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

          ผลิตภัณฑ์กันยุงต้องใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ และไม่ควรใช้ปริมาณมาก ที่สำคัญจะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้ และคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด

          สำหรับเด็กเล็ก ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน ควรใช้วิธีป้องกันโดยวิธีอื่น เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า กางมุ้ง อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมกับเด็ก เช่น สบู่ น้ำหอม และหลีกเลี่ยงการใส่ชุดที่มีสีสว่าง หรือพิมพ์ลายดอกไม้ เพราะจะดึงดูดยุง

          ข้อควรรู้ ผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. (ยกเว้น Citronella oil) ไม่ได้ถูกบังคับให้ผ่านการประเมินผลทดสอบประสิทธิภาพ ดังนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ผู้บริโภคจึงควรเลือกอย่างมีวิจารณญาน โดยเฉพาะประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เครื่องสำอาง
สุขภาพ
ทั่วไป
สเปรย์
สเปรย์กันยุง
เด็ก
เด็กเล็ก