4 ความเชื่อ เกี่ยวกับการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
8 กรกฎาคม 2564

            แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกจะมีระดับความลึกของบาดแผลหลายระดับ หากเป็นบาดแผลระดับลึก หรือมีขนาดกว้าง ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที การปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี เพื่อให้อาการเบื้องต้นทุเลาลงก่อนไปพบแพทย์เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับบาดแผลที่ตื้น มีการทำลายเฉพาะผิวหนังกำพร้าชั้นนอกที่ควรทำ แนะนำให้

  1. ล้างด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรืออาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด
  2. ซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์

          วันนี้เรามี 4 ความเชื่อ ที่หลาย ๆ คนแชร์ข้อมูลลงในโลกโซเชียลมาฝาก ดูติดตามกันเถอะว่า
วิธีเหล่านั้นเป็นวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องหรือไม่

          1. นำยาสีฟันทาบริเวณที่เป็นแผล ไม่จริง

          ยาสีฟัน ไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เสี่ยงทำให้แผลเกิดอาการระคายเคือง มีโอกาสติดเชื้อ และรักษาได้ยากขึ้น

          2. นำน้ำปลามาทาบริเวณที่เป็นแผล ไม่จริง

          น้ำปลา ไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล
แสบแผล เสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อ

          3. นำว่านหางจระเข้ไปวางบนแผล เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อน จริง

          ก่อนใช้ควรทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำสะอาด หลังจากนั้นสามารถนำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือกแล้วล้างยางสีเหลืองออกให้หมด ให้เหลือแต่วุ้นใส ๆ แล้วนำไปวางบริเวณที่เป็นแผล

          นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้ขายอยู่ทั่วไปตามร้านขายยา โดยการเลือกซื้อควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือที่มีเครื่องหมาย อย.

          4. นำน้ำแข็งมาประคบบริเวณแผล เพื่อบรรเทาอาการแสบร้อน  ไม่จริง

          ความจริงแล้วเมื่อเกิดบาดแผล ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หลังจากทำความสะอาดบาดแผลเสร็จแล้ว การใช้ความเย็นมาประคบบริเวณที่เกิดแผล จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้ แต่ไม่แนะนำให้นำน้ำแข็งมาประคบ เพราะน้ำแข็งอาจมีสิ่งสกปรกติดมาตามน้ำแข็ง อาจทำให้แผลติดเชื้อได้

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ผลิตภัณฑ์ยา
สาระความรู้
FDAknowledge
แผลไฟไหม้
น้ำร้อนลวก
ยาสีฟัน
น้ำปลา
ว่านหางจระเข้
น้ำแข็ง