โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ
เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการพลังงานและสารอาหารแตกต่างจากวัยทำงาน
หรือผู้ที่มีสุขภาพร่างกายปกติ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ
จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีความต้านทานโรค และลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยได้
แต่อย่างไรก็ดี ความต้องการพลังงานและสารอาหารในผู้สูงอายุแต่ละรายจะแตกต่างกันไป
ขึ้นกับอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และการใช้พลังงาน
ในแต่ละวัน
สารอาหารหลักสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่
โปรตีน ผู้สูงอายุต้องการสารอาหารกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น
เพราะอาหารกลุ่มนี้จำเป็นในการซ่อมแซม ทดแทนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โดยต้องการประมาณวันละ 1
กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพดีและย่อยง่าย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
เนื้อปลา นมพร่องมันเนย และ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
คาร์โบไฮเดรต แหล่งสารอาหารได้จากข้าว แป้ง น้ำตาล
เผือก และมัน ผู้สูงอายุสามารถรับประทานอาหารเหล่านี้ได้
แต่ควรลดปริมาณการรับประทานน้ำตาลลง และควรเลือกรับประทานเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
(Complex carbohydrate) เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ
ธัญพืชไม่ขัดสี
ไขมัน ผู้สูงอายุต้องการพลังงานจากไขมันเพียงเล็กน้อย
เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันที่จำเป็นและวิตามินที่ละลายในไขมันเพียงพอ
ผู้สูงอายุควรลดหรือจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ
ครีมเข้มข้น
วิตามินและเกลือแร่ พบมากในอาหารจำพวกผักและผลไม้
มีกากใยช่วยให้ระบบขับถ่ายดี โดยทั่วไปความต้องการวิตามินและแร่ธาตุของผู้สูงอายุไม่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่
ผู้สูงอายุควรรับประทานผักหลากหลายสี และรับประทานผลไม้ทุกวัน
โดยเลือกผลไม้ที่ไม่หวานเกินไป เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร ผลเบอร์รีต่าง ๆ (สตรอว์เบอร์รี ราสป์เบอร์รี บลูเบอร์รี) เป็นต้น เพื่อให้ได้รับวิตามิน
เกลือแร่และเส้นใยอาหาร
อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
1.อาหารที่มีรสจัด
หวานจัด เค็มจัด เช่น เค้ก ไอศกรีม ส้มตำ เป็นต้น
2.อาหารทอด
รวมทั้งเนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ ซึ่งมีปริมาณไขมันสูง เช่น ปาท่องโก๋
หมูสามชั้นทอด เนื่องจากผู้สูงอายุจะย่อยและดูดซึมไขมันได้น้อยลง อาจทำให้ท้องอืด
แน่นท้องได้
3.อาหารแปรรูปชนิดต่าง ๆ
เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ แหนม
4.อาหารหมักดอง
เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ผลไม้ดองต่าง ๆ
การดูแลโภชนาการของผู้สูงอายุเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ
แต่ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
หากพบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ
ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทันที
เราสามารถดูแลโภชนาการของผู้สูงอายุได้โดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนบริโภคเพื่อที่จะทำให้สามารถทราบถึงสารอาหารที่จะได้รับในอาหารที่รับประทานได้ นอกจากนี้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรตรวจเลขสารบบอาหารก่อนซื้อทุกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง
http://gened2.cmru.ac.th/ge_learning/src/gen1403/GEN1403-C4.pdf
https://www.dop.go.th/th/know/13/1063
https://hpc11.go.th/knowledge_center/uploads/qwvb6ZoQUKRE7qKYFwdKqo/6ff901b17e42d6779595fd44386c6a9f.pdf