เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลงตามอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาวทั่วไป มีการติดเชื้อที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า ดังนั้นการได้รับวัคซีนจะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ลดการเกิดโรค และลดความรุนแรงของโรค วันนี้มาติดตามกันว่า 4 วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง
- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ผู้สูงอายุที่เป็นไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดหลอดลมอักเสบและปอดบวม หรือบางรายมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจทำให้เสียชีวิตได้
แนะนำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 1 เข็ม ทุกปี
- วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม
โรคปอดบวมมีสาเหตุสำคัญจากเชื้อนิวโมค็อกคัส ซึ่งอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
แนะนำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม ตามด้วยชนิด23 สายพันธุ์ 1 เข็ม
ห่างกัน 1 ปี
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ทำให้เกิดตุ่มน้ำใสตามแนวเส้นประสาท ซึ่งเมื่อเราสุขภาพอ่อนแอ เชื้อก็จะกลับมาเป็นขึ้นใหม่ และการกลับมาเป็นซ้ำ ในผู้สูงอายุจะมีอาการอักเสบของเส้นประสาทที่ทำให้มีอาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง
แนะนำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 เข็ม เพียงครั้งเดียว โดยแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและไม่เคยเป็นอีสุกอีใส
- วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน
- โรคบาดทะยัก หากเกิดแผลในผู้สูงอายุจะมีโอกาสติดเชื้อบาดทะยักได้ง่าย ทำให้เกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
- โรคคอตีบที่รุนแรงทำให้หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
- โรคไอกรนทำให้ไอต่อเนื่องอย่างรุนแรง
แนะนำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน 1 เข็ม และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ ทุก 10 ปี
ข้อมูลอ้างอิง :
วัคซีนในผู้สูงอายุ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (mahidol.ac.th)
พาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (mahidol.ac.th)
วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (mahidol.ac.th)
วัคซีนงูสวัด | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
Shingles Zostavax Vaccination | What You Should Know | CDC