โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นภัยร้ายที่มาแบบเงียบๆ เนื่องจากไม่มีอาการ หรือไม่ก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจน จึงทำให้หลายคนมองข้ามโรคนี้ไป แต่ถ้าติดเชื้อแล้วอาจจะรักษาหายยากและเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ
อาการและอาการแสดง
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจไม่มีอาการหรือมีอาการของโรคตับอักเสบฉับพลันแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาและตัวเหลือง หรือมีอาการรุนแรง ตับโต จนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และหายภายใน 2 เดือน แต่มีผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 5-10 ไม่หายสนิท หากการติดเชื้อดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไปจะเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด
การติดต่อ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้ทางเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น น้ำตา น้ำมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกจากช่องคลอด น้ำคร่ำ ดังนั้นการสัมผัสเลือด หรือสารสิ่งคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ เช่น การได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด ติดต่อผ่านเข็มฉีดยา การฝังเข็มและเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนเลือด
การรักษา แบ่งได้เป็น 2 แบบ
1. แบบเฉียบพลัน จะสามารถหายได้เอง โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำมากๆ
2. แบบเรื้อรัง จะรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ยา Lamivudine (ลามิวูดีน) ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทาน หรือยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นต้น
การป้องกัน
ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่ ควรตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบีแล้วหรือไม่ก่อนฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนต้องฉีด 3 เข็มในระยะ 0, 1, 6 เดือนตามลำดับ
ข้อมูลอ้างอิง :
รู้เท่าทัน “ไวรัสตับอักเสบบี” ภัยร้ายก่อโรคตับแข็ง มะเร็งตับ | รพ.นครธน | NAKORNTHON HOSPITAL
ไวรัสตับอักเสบบี - อาการและการรักษา - ระบบทางเดินอาหาร | บำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)