อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 18/07/67
ทุกครั้งที่หยิบอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมารับประทาน นอกจากรสชาติความอร่อยแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ สารอาหารที่ได้รับ และปริมาณพลังงานที่เหมาะสม เพื่อควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม ไม่ให้มากจนเกินไป แต่ปัญหาที่พบ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะเลือกอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคอย่างไร ดูปริมาณพลังงานที่เหมาะสมตรงไหน นี่เองคือหน้าที่และประโยชน์ของฉลาก หวาน มัน เค็ม
ฉลาก หวาน มัน เค็ม หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA) เป็นการแสดงปริมาณและปริมาณสูงสุดเป็นร้อยละของพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ (ถุง ซอง กล่อง) โดยแสดงบนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (front of pack)
พบได้ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที 13 กลุ่ม ดังนี้
- อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอด หรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่ว ทอด หรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอด หรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตหรือเมล็ดพืชทอด หรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือปรุงรส และเนื้อสัตว์ที่ทำเป็นเส้น เช่น ปลาเส้นทอด
ปลาเส้นอบกรอบ หรือปรุงรส - ช็อกโกแลต และขนมหวานรสช็อกโกแลต
- ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้
- อาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่
ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง - อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น หรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย
- เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง
- กาแฟปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง
- นมปรุงแต่ง
- นมเปรี้ยว
- ผลิตภัณฑ์ของนม
- น้ำนมถั่วเหลือง
- ไอศกรีมที่อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภค
“ในแต่ละวันควรจำกัดการบริโภค พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ไม่เกิน 100% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคได้ต่อวัน”
ปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
พลังงาน |
น้ำตาล |
ไขมัน |
โซเดียม |
2,000 กิโลแคลอรี |
65 กรัม |
65 กรัม |
2,000 มิลลิกรัม |
ฉลาก หวาน มัน เค็ม ช่วยให้เราสามารถเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะสมกับความต้องการได้ เช่น หากต้องการควบคุมน้ำหนักควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่แสดงค่าพลังงานน้อย ๆ หากกังวลเรื่องน้ำตาลหรือเป็นโรคเบาหวาน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อย หากกังวลเรื่องไขมันหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันน้อย และหากกังวลเรื่องโซเดียม หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง นอกจากนี้ ยังสามารถเปรียบเทียบเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือกยี่ห้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าและเหมาะสมกับตนเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
สุขภาพดี ด้วยวิธี อ่านฉลากหวาน มัน เค็ม. อย.
อย. แนะอ่านฉลาก GDA ก่อนซื้อ ลดเสี่ยงเบาหวาน. อย.
เลือกบริโภคอย่างฉลาด ด้วยฉลาก หวาน มัน เค็ม (Roll up). อย.