หลายคนเคยได้ยินเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดงที่ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ แล้วสารเร่งเนื้อแดงคืออะไร ทำไมถึงต้องห้ามใช้ วันนี้เรามีคำตอบ
สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) มีด้วยกันหลายชนิด เช่น
เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) ซัลบูทามอล (Salbutamol) และแรคโตพามีน (Ractopamine) เป็นต้น ใช้เป็นตัวยาในทางการแพทย์ ช่วยขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
ถ้าสารดังกล่าวถูกนำไปผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ จะกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานจากไขมัน ลดการสะสมของไขมัน เพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ และช่วยเปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ ทำให้มีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ขายได้ราคาดีกว่า แต่เมื่อคนกินเนื้อแดงที่ปนเปื้อนเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายมีอาการเป็นลม มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และผู้ป่วยโรคไฮเปอร์ไธรอยด์
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ และเกลือของสารกลุ่มนี้ มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล หากพบเห็นเนื้อสัตว์มีสีแดงจัดผิดปกติ หรือสงสัยว่ามีการลักลอบใส่สารดังกล่าวสามารถแจ้งมาที่
สายด่วน อย. โทร. 1556