ปัญหาลูกซน ไม่อยู่นิ่ง มีพัฒนาการผิดปกติ ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลกลัวว่า ลูกของตนเป็นโรคสมาธิสั้น
รึเปล่า โรคสมาธิสั้นคืออะไร มีอาการแบบไหน และรักษาอย่างไร วันนี้มาติดตามกัน
โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD ย่อมาจาก “Attention - deficit hyperactivity disorder” เกิดจากความผิดปกติ
ในการทำงานของสมอง ทำให้มีความบกพร่องในการควบคุมสมาธิและการแสดงออกทางพฤติกรรม พบได้บ่อยในเด็ก โดยอาการของเด็กสมาธิสั้นมีอาการหลัก 3 ด้าน คือ
- ไม่สามารถควบคุมสมาธิได้นาน มีปัญหาในการจัดระเบียบ (inattention and disorganized) เช่น
ไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความพยายามให้สำเร็จลุล่วงได้ ทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ วอกแวกง่าย ทำงานไม่เรียบร้อย สะเพร่า มีปัญหาในการจัดระเบียบการทำงาน มักทำของหาย - ซุกซนมากกว่าปกติ (hyperactivity) เช่น อยู่ไม่นิ่ง เดินไปเดินมา ปีนป่าย หรือพูดคุยตลอดเวลา
- ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (impulsive) เช่น ไม่สามารถรอคอยได้ ชอบพูดแทรก
การรักษานั้นต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานด้วยวิธีการหลายอย่างร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุด เช่น การใช้ยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือดูแลโดยผู้ปกครองและคุณครู โดยยาที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองและประสาทส่วนกลาง โดยมีกลไกในการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น เช่น ยา Methylphenidate ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาได้ โดยยา Methylphenidate มี 2 รูปแบบ คือ
- รูปแบบปกติ ยาออกฤทธิ์ประมาณ 3 - 5 ชั่วโมง จึงมักจะต้องรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน
- รูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน การรับประทานยาชนิดนี้ต้องกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือ เคี้ยวเม็ดยา และควรรับประทานยาในช่วงเช้า ไม่ควรให้รับประทานเวลาอื่นเพราะยาออกฤทธิ์ยาวถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งยา Methylphenidate ทั้ง 2 รูปแบบ มีอาการข้างเคียงเหมือนกัน คือ นอนไม่หลับ
2. กลุ่มยาที่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองหรือประสาทส่วนกลาง เช่น Atomoxetine, Clonidine, และ
ยารักษาอาการซึมเศร้า
การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติอย่างละเอียดร่วมกับการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้ ดังนั้น หากสงสัยว่าเด็กจะเป็นโรคสมาธิสั้น ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง :
โรคสมาธิสั้น | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (mahidol.ac.th)
00-Vitharon.pdf (psychiatry.or.th)
โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/479/โรคสมาธิสั้นในเด็ก:การรักษาด้วยยา/