พยาธิ คือ ปรสิตชนิดหนึ่งที่สามารถอาศัยอยู่ภายในร่างกายของคน และคอยแย่งสารอาหารที่คนรับประทานเข้าไป จนทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แล้วเราควรจะถ่ายพยาธิเมื่อไหร่ จำเป็นหรือไม่ มาติดตามกัน
การถ่ายพยาธิไม่จำเป็นต้องทำบ่อย ควรถ่ายพยาธิเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าตนเองอาจเกิดโรค หรือ
มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง อาการผิดปกติที่พบเมื่อมีพยาธิในร่างกาย เช่น
- พยาธิที่อยู่ในทางเดินอาหาร อาจทำให้มีอาการหิวบ่อย น้ำหนักลด ซีด ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย คันบริเวณทวารหนัก
- พยาธิที่ไชอยู่ใต้ผิวหนัง จะทำให้เกิดผื่นคันหรือมีก้อนบวมแดงที่ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ
- พยาธิใบไม้ในตับ ทำให้มีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง
- พยาธิใบไม้ในปอด ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือดได้
- พยาธิที่ไชไปที่กล้ามเนื้อ ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- พยาธิไชไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว ชัก ได้
การถ่ายพยาธิทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรับประทานยาถ่ายพยาธิ ซึ่งมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและข้อกำจัดไม่เหมือนกัน
ข้อควรระวังการใช้ยาถ่ายพยาธิ
ไม่ควรใช้ยาถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปีเพียงเพราะมีรูปร่างผอม เนื่องจากความผอมอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรจะหาโอกาสปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดดีกว่าการซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการแพ้ยา การเกิดผลข้างเคียงต่างๆและผลต่อตับจากยา ถ้าต้องรับประทานยาควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนรับประทานยาทุกครั้ง และปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันควรดูแลสุขอนามัยอยู่เสมอด้วยการรักษาความสะอาด เช่น อาบน้ำทุกวัน หมั่นล้างมือและทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เก็บอาหารไม่ให้สกปรก หลีกเลี่ยงไม่ให้มีแมลงและสัตว์อื่นๆ มากินได้ ขับถ่ายในห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นดินโดยตรง เช่น การเดินด้วยเท้าเปล่า
ข้อมูลอ้างอิง :
ถ่ายพยาธิ จำเป็นหรือไม่ ควรทำเมื่อไร ? - พบแพทย์ (pobpad.com)
ยาถ่ายพยาธิ จำเป็นต้องกินหรือไม่ • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)