สิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเมื่อมีอาการปวดหู คือ หูอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ และอาจส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยินและการทรงตัว เมื่อใดที่มีความผิดปกติของหูเกิดขึ้นเราจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังได้ วันนี้มาทำความรู้จักกับหูอักเสบแต่เนิ่น ๆ เพื่อพร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธีกันดีกว่า
หูชั้นนอกอักเสบ (Acute Otitis Externa) มักจะเกิดภายหลังการแคะหู หรือหลังจากมีน้ำเข้าหูแล้วพยายามเช็ดหู โดยเฉพาะหลังการเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองในรูหูส่วนนอก ปวดหู หูอื้อ มีของเหลว (หนอง) ไหลออกจากหู ผิวหนังของรูหูส่วนนอกบวมแดงเฉพาะที่ อาจพบหนองที่มีกลิ่นเหม็นอยู่ภายในรูหูส่วนนอก กดเจ็บบริเวณหน้าใบหู เมื่อดึงใบหูหรือโยกใบหูจะเจ็บมากขึ้น อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหรือหลังหูโตได้ ขณะที่ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media : AOM) หรือหูน้ำหนวกส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามหลังการติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในเด็กเล็กถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้มีน้ำขังในหูชั้นกลาง หรือ แก้วหูทะลุ เกิดหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
การรักษาด้วยยา
- รับประทานยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่เหมาะสมเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ซึ่งควรรับประทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 – 14 วัน
- รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาลดบวม ยาหดหลอดเลือด (Oral Decongestant) และ
พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical Decongestant) ตามแพทย์สั่ง เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม - ถ้ามีอาการปวดมากหรือมีไข้ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เท่าที่จำเป็น
ยาหยอดหูที่มีตัวยาปฏิชีวนะ (ตามแพทย์สั่ง) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง
หูชั้นในอักเสบ ( Labyrinthitis ) หรือโรคไวรัสลงหู ทำให้การทรงตัวเสียไปชั่วคราว มีอาการวิงเวียนบ้านหมุน คลื่นไส้ซึ่งมักเป็นขณะที่มีการเปลี่ยนท่าทาง บางคนมีอาเจียน หรือตากระตุก หรือเดินเซ ร่วมด้วย โดยทั่วไปจะไม่มีไข้ โรคหูชั้นในอักเสบพบได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนมากจะมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งลุกลามจากบริเวณจมูกและลำคอผ่านท่อยูสเตเชียนเข้ามาในหูชั้นใน มักเกิดตามหลังไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากการอักเสบของหูชั้นกลาง
- หากมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้บ่อย ให้กินยาแก้อาเจียน ได้แก่ ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)ซึ่งมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ง่วงนอน มึนงง จึงต้องระวังอย่าขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
- ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการตากระตุก เดินเซ หรืออาเจียนมาก ปวดหู หูอื้อ หรือมีน้ำหนองไหลมีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย หรือมีอาการนานเกิน 5 วันแบบเป็นๆ หายๆ
- อาการปวดหูพบได้ในทุกช่วงอายุ และอาจส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน เมื่อสงสัยว่าอาจเกิดจากหูอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
หมายเหตุ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=476
https://www.thaipediatrics.org/Media/media-20190909125815.pdf
https://www.pidst.or.th/A737.html
https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=893
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=11
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=766
https://www.doctor.or.th/article/detail/4277