คำโฆษณาเกินจริงที่ “ห้ามใช้” กับผลิตภัณฑ์อาหาร
23 พฤศจิกายน 2565

หลายครั้งที่ตรวจสอบแล้วพบว่า คำโฆษณาที่ถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ เป็นเพียงคำชักจูงหรือเชิญชวนเพื่อให้หลงเชื่อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่เมื่อลองใช้จริง ผลกลับไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา ในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับคำโฆษณาเกินจริงที่มักพบในผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีสัดส่วนของผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อค่อนข้างสูง แล้วจะมีคำประเภทไหนบ้างนะมาติดตามกันเลย

          “การโฆษณาอาหาร” หมายถึง การกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเกี่ยวกับอาหาร ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

          "ข้อความ" หมายความรวมถึง ข้อความ ข้อความเสียง เสียง ภาพ รูปภาพ รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือการกระทำอื่นใดที่เข้าใจได้

             ตาม ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 คําที่ไม่อนุญาตในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณของอาหาร เช่น

- ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ

- เลิศที่สุด ดีเลิศ ชนะเลิศ ชั้นเลิศ เลิศเลอ ลํ้าเลิศ เลิศลํ้า

- ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย สุดยอด

- ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย

- ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด

- เด็ดขาด หายห่วง หายขาด หมดกังวล

- สุดเหวี่ยง

- ไม่มีผลข้างเคียง ไร้ผลข้างเคียง

- อย. รับรอง ปลอดภัย

- เห็นผลเร็ว

          ข้อความที่ไม่อนุญาตในการโฆษณาอาหาร รวมถึงการใช้ภาพที่สื่อให้เข้าใจได้ในความหมายเดียวกัน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. ข้อความที่สื่อแสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกัน โรคหรืออาการของโรคหรือความเจ็บป่วย ตัวอย่างเช่น

  • ลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หลอดเลือดแข็งตัว ภูมิแพ้ หอบหืด
  • บรรเทาอาการปวดหัว ไมเกรน อาการชา บวมและเส้นเลือดขอด
  • แก้ปัญหาปวดประจําเดือน ประจําเดือนมาไม่ปกติ อาการตกขาว
  • ป้องกันหรือต่อต้านเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไข้หวัด แบคทีเรีย เป็นต้น

2. ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หน้าที่อวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย ตัวอย่างเช่น

  • ปรับสมดุลให้ร่างกาย  ฟื้นฟูร่างกายหรืออวัยวะ
  • บํารุงสมอง บํารุงประสาท หรือบํารุงอวัยวะของร่างกาย
  • เสริมสร้างหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทาน
  • Detox / ล้างสารพิษ

3. ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม บำรุงเพศ หรือเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น

  • ช่วยบํารุงและเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ เสริมสร้างศักยภาพทางเพศ
  • เพิ่มขนาดอวัยวะเพศ ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้นาน - ลดอาการหลั่งเร็ว
  • อาหารเสริมสําหรับชาย/ หญิง
  • กระชับช่องคลอด
  • เพิ่มขนาดหน้าอก อัพไซส์

4. ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณเพื่อบำรุงผิวพรรณและความสวยงาม ตัวอย่างเช่น

  • ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดํา ลดความมันบนใบหน้า
  • ผิวขาว กระจ่างใส นุ่มเด้ง เปล่งปลั่ง ออร่า
  • กระชับรูขุมขน/ ฟื้นฟูผิว
  • ชะลอความแก่
  • แก้ผมร่วง
  • กันแดด ท้าแดด

5. ข้อความที่สื่อแสดงให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณในการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หรือข้อความอื่นใดในทำนองเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

  • ลดความอ้วน
  • ช่วยให้ระบายท้อง
  • สลายไขมันที่สะสมในร่างกาย ดักจับไขมัน
  • Block/ Burn/ Build /Break / Firm
  • การใช้ภาพสายวัด/ เครื่องชั่งน้ำหนัก/ กางเกง Over Size
  • ภาพ Before/ After
  • ไม่โยโย่

ดังนั้น อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่กล่าวอ้างเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป โดยเฉพาะการซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์

          ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาการได้รับอนุญาตและการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย มีข้อมูล เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญและส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างคุณประโยชน์ ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือวันเดือนปีที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อน และควรปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ขอให้รู้เท่าทันการโฆษณาอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณใด ๆ มารับประทาน เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึง

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/073/T_0014.PDF
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1780
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/803
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/306
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_radio/312

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
FDAthai
oryor
อย.
อาหาร
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
โฆษณาเกินจริง
ผลิตภัณฑ์อาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
โฆษณาอาหาร
โฆษณาชวนเชื่อ
คําที่ไม่อนุญาตในการโฆษณา
คําที่ห้ามใช้ในการโฆษณา