วิธีการเลือกซื้อน้ำส้มสายชู
16 มิถุนายน 2566

น้ำส้มสายชู เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงสำคัญที่นำมาปรุงรสชาติอาหารหลากหลายชนิด ทำให้มีรสเปรี้ยวอร่อยยิ่งขึ้น หลายคนแทบจะขาดเจ้าเครื่องปรุงชนิดนี้ไม่ได้เลย ต้องมีติดบ้านไว้กันทีเดียว แล้วจะมีวิธีในการเลือกซื้อเลือกบริโภคน้ำส้มสายชูอย่างไรให้ปลอดภัย 

น้ำส้มสายชู (Vinegar) มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติ และกระบวนการผลิตแตกต่างกัน โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 204) พ.ศ.2543 เรื่องน้ำส้มสายชู ได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1.น้ำส้มสายชูหมัก คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากการนำธัญพืช ผลไม้ หรือน้ำตาล มาหมักกับส่าเหล้าและหมักกับเชื้อน้ำส้มสายชูตามกรรมวิธีธรรมชาติ มีปริมาณกรดน้ำส้มไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ต่อ 100 มิลลิลิตรที่ 27 องศาเซลเซียส ไม่มีหนอนน้ำส้ม ไม่มีกรดกำมะถันหรือกรดแร่อิสระอย่างอื่น

2.น้ำส้มสายชูกลั่น คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากการนำแอลกอฮอล์กลั่นเจือจาง (Dilute Distilled Alcohol) มาหมักกับเชื้อน้ำส้มสายชู หรือเมื่อหมักแล้วนำไปกลั่นอีก หรือได้จากการนำน้ำส้มสายชูหมักมากลั่น มีปริมาณกรดน้ำส้มไม่น้อยกว่าร้อยละ 4  ต่อ 100 มิลลิลิตรที่ 27 องศาเซลเซียส ควรมีลักษณะใสไม่มีตะกอน ไม่มีหนอนน้ำส้ม ไม่มีกรดกำมะถันหรือกรดแร่อิสระอย่างอื่น

3.น้ำส้มสายชูเทียม คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากการนำเอากรดน้ำส้ม (Acetic Acid) มาเจือจาง มีปริมาณกรดน้ำส้มไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และไม่เกิน ร้อยละ 7 ต่อ 100 มิลลิลิตรที่ 27 องศาเซลเซียส ต้องไม่มีการเจือสีใด ๆ มีลักษณะใสไม่มีตะกอน ไม่มีการแต่งกลิ่นหรือรส ไม่มีกรดกำมะถันหรือกรดแร่อิสระอย่างอื่น

การเลือกซื้อ/เลือกบริโภคน้ำส้มสายชู

1.อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียด ดังนี้

-ชื่ออาหาร 

-เลขสารบบอาหาร 

-ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต แบ่งบรรจุ หรือ ชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต 

-ปริมาตรสุทธิ

-ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก

-วันเดือนและปีหรือเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อนหรือหมดอายุโดยมีข้อความว่า“ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ” กำกับ

2.ต้องมีลักษณะใส ไม่มีตะกอน ไม่เจือสี และสำหรับกรณี น้ำส้มสายชูเทียม ต้องมีปริมาณกรดน้ำส้ม 4-7 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร โดยควรเลือกที่มีข้อความข้างขวดระบุว่า “มีปริมาณกรดน้ำส้ม 4-7%”

3.ก่อนบริโภคควรสังเกตน้ำส้มสายชูก่อนปรุง กรณีใส่พริกดอง ให้สังเกตส่วนน้ำส้มที่อยู่เหนือพริกจะขุ่น เนื้อพริกมีสีซีดขาว และเปื่อยยุ่ย ไม่ควรกิน


ข้อมูลอ้างอิง 
คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การเลือกซื้อ
ผลิตภัณฑ์อาหาร
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
อย.
สาระความรู้
อาหาร
น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูปลอม
อาหารปลอดภัย