ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนหรือนั่งตรงไหน จะมืดหรือสว่างก็มักจะมียุงตามมากัดจนน่ารำคาญ ซ้ำร้ายก็อาจจะทำให้เราต้องเจ็บป่วยเพราะยุงเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคหลายโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนย่า ดังนั้น การป้องกันยุงกัดจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ในบทความนี้จึงขอแนะนำผลิตภัณฑ์กันยุงสำหรับเด็กเล็กเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคุณพ่อคุณแม่กัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักสารออกฤทธิ์ในสเปรย์หรือยาทากันยุงกันก่อน ซึ่งโดยทั่วไปครีม โลชัน หรือสเปรย์กันยุงนั้นจะใช้สารออกฤทธิ์ที่ไม่แตกต่างกัน อาทิ ดีอีอีที (DEET), อิคาริดิน (Icaridin), เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) หรืออีกชื่อคือ ไออาร์ 3535 (IR 3535) ซึ่งสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดจะมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ดังนี้
- ดีอีอีที (DEET) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป
- อิคาริดิน (Icaridin)ให้ใช้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
- ไออาร์ 3535 (IR 3535)ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป
- น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป
- น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) ให้ใช้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป
สำหรับผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุงนั้น ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส (ยกเว้นผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอม หรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์) ดังนั้นในการเลือกผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันตะไคร้หอมเป็นสารออกฤทธิ์ ควรเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขที่รับแจ้ง และสำหรับผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีสารดีอีอีที, อิคาริดิน, ไออาร์ 3535 เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. และควรอ่านฉลากก่อนใช้ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ควรใช้ในกรณีที่ความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ และไม่ควรใช้ในปริมาณมาก สำหรับการใช้ในเด็กให้ดูที่คำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่าห้ามใช้ในเด็กอายุเท่าใด ทั้งนี้ ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กทารก แต่ควรใช้วิธีป้องกันยุงด้วยวิธีอื่น เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า กางมุ้ง แต่หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงกับเด็ก ผู้ใหญ่ควรดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ไม่ควรให้เด็กทาหรือพ่นสเปรย์กันยุงเอง ที่สำคัญหลังจากใช้งานเสร็จ หรือกลับมาอยู่ในห้องแล้วควรล้างผิวบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด