หน้าฝนเป็นช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียมีการเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งคนส่วนใหญ่ต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน อาจโดนฝน ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียก ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ง่าย เราจึงควรหาวิธีป้องกันและดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งโรคผิวหนังที่เราควรทำความรู้จัก มีดังนี้
1.โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อรา ได้แก่
1.1 กลาก (Dermatophytosis) เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Dermatophytes มีลักษณะเป็นผื่นสีแดงเป็นวงกลม มีขอบเขตชัดเจน ขอบภายนอกมีสีเข้มกว่าผิวหนังด้านใน อาจพบขุยหรือสะเก็ดบาง ๆ ที่ขอบวงแหวน และมีอาการคัน กลากสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่เป็นโรค สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายมักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า
การรักษา 1. ยาทาภายนอก เช่น Terbinafine cream, ยาทากลุ่ม Imidazoles
2. ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน ได้แก่ ยากลุ่ม Imidazoles เช่น Ketoconazole, Fluconazole, Itraconazole, Griseofulvin หรือ Terbinafine
ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เนื่องจากการเลือกใช้ยาและระยะเวลาการใช้จะขึ้นกับบริเวณที่เป็น และความรุนแรงของโรค
1.2 เกลื้อน (Pityriasis Versicolor) มักเกิดจากเชื้อราชื่อว่า Malassezia furfur เป็นเชื้อราประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง เมื่อถูกกระตุ้นด้วย ความชื้น ผิวที่มีความมัน เหงื่อออกปริมาณมาก หรือในคนที่มีภูมิคุ้มกันลดลง จะเกิดเกลื้อนขึ้น มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ไหล่ และคอ โดยส่วนใหญ่มักไม่คัน
การรักษา 1. ยาทาภายนอก ได้แก่ 20-25% Sodium thiosulfate หรือ 40-50% Propylene glycol หรือ ยาทากลุ่ม Imidazoles เช่น Clotrimazole, Econazole หรือ Miconazole
2. ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน เหมาะสำหรับในรายที่เป็นกว้าง หรือ บริเวณที่ทายาได้ลำบาก ได้แก่ Ketoconazole, Itraconazole หรือ Fluconazole
ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เนื่องจากการเลือกใช้ยาและระยะเวลาการใช้จะขึ้นกับบริเวณที่เป็น และความรุนแรงของโรค เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
2. โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot) เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียก อับชื้น และการสัมผัสสิ่งสกปรก ทำให้ผิวหนังอักเสบขึ้น ลอก คัน และแสบ เกิดผื่นแดง และเป็นขุยบริเวณง่ามนิ้วเท้า เกิดตุ่มน้ำเล็ก ๆ สีแดงที่บริเวณฝ่าเท้าหรือง่ามนิ้วเท้า เท้ามีกลิ่น อาจติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมา
การรักษา 1. เมื่อเริ่มมีแผลถลอกบริเวณเท้าควรทายาฆ่าเชื้อ เช่น Povidone Iodine หลังล้างเท้า
2. หากเกิดผื่นน้ำกัดเท้าแล้ว ให้ใช้ยาทาแก้คัน หรือยาทาแก้คันผสมยาฆ่าเชื้อรา ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อรา ทาบริเวณผื่น หรือยาบรรเทาอาการคันแบบกิน เช่น ไฮดรอกซีซีน (Hydroxyzine) หรือ เซทิริซีน (Cetirizine)
3. ควรรับประทานยาฆ่าเชื้อรา เมื่อเกิดการติดเชื้อราร่วมด้วย โดยตัวยาและระยะเวลาการใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ
3.โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic eczema) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็นผื่นแดง มีตุ่มน้ำขนาดเล็ก มีอาการคันมาก โดยผื่นถูกกระตุ้นให้เห่อขึ้นได้เมื่อมีความชื้นมาก เหงื่อที่ระบายได้ยาก และการเสียดสี
การรักษา 1. เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยทำความสะอาดด้วยสารทำความสะอาดที่ไม่รุนแรงต่อผิว และเลือกทาครีมบำรุงที่ไม่มีสารก่อระคายเคือง
2. สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
4.โรคเท้ามีกลิ่นเหม็น (Pitted keratolysis) มีอาการ คือ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก มีหลุมเล็ก ๆ ที่ฝ่าเท้า สาเหตุหลักของโรคเท้ามีกลิ่นเหม็นเกิดจากเหงื่อและแบคทีเรีย รวมถึงการใส่รองเท้าหรือถุงเท้าที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดี ทำให้เกิดความอับชื้น
การรักษา 1. ยาที่ลดความอับชื้น เช่น 20% Aluminium Chloride เป็นผงแป้ง ใช้วันละ 1 ถึง 2 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
2. ยาทาที่ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clindamycin หรือ Erythromycin เป็นต้น
3. ยาช่วยให้ผิวหนังลอกและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Benzoyl peroxide เป็นต้น
ควรเลือกซื้อครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีฉลากภาษาไทยที่ระบุเลขที่ใบรับจดแจ้งอย่างชัดเจน อย่าหลงเชื่อการโฆษณาหรือรีวิวเกินจริง และเนื่องจากโรคผิวหนังบางชนิดมีอาการคล้ายคลึงกัน จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการรักษาและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
กรม สบส. แนะช่วงฤดูฝน ดูแลร่างกายและของใช้ให้สะอาดตามสุขบัญญัติ ป้องกันโรคไข้หวัด โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
6 โรคผิวหนังยอดฮิต ที่มากับหน้าฝน
กระเทียม รักษาเกลื้อน ได้จริง
คัน คัน คัน เป็นกลาก หรือเกลื้อนกันแน่นะ
โรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม
โรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบบ่อย
เป็นสิว...ไม่ธรรมดา
กลิ่นเท้า…ใครว่าไม่สำคัญ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
เคยได้ยินมาว่า มีผื่นชนิดหนึ่งเรียก\"ผื่นกุหลาบ\" สาเหตุเกิดจากอะไร คนกลุ่มไหนที่เป็น และยาที่รักษาคืออะไรค่ะ?
โรคผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน