บาดทะยัก ภัยร้ายใกล้ตัว
19 มีนาคม 2567

โรคบาดทะยักหรือ Tetanus เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม เททานี (Clostridium tetani) ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในดิน ฝุ่นละอองตามถนน ในสิ่งแวดล้อม เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่ถลอก ทางบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เจาะลึกเข้าไปในผิวหนัง เช่น ตะปูตำ เสี้ยนไม้ตำ นอกจากนี้อาจพบการติดเชื้อจากการใช้เครื่องมือหรือเข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด

          เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษท็อกซิน ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปจับกับเส้นประสาท เชื้อจะลามไปตามเส้นประสาท สู่ไขสันหลัง และอาจไปถึงก้านสมองบางส่วน ทำให้มีอาการปวดคล้ายปวดกล้ามเนื้อ อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นระยะ ๆ อ้าปากไม่ได้ คอเกร็ง หลังเกร็ง เหงื่อแตก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคบาดทะยัก แม้จะเป็นโรคอันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ดังนี้

1. หากมีบาดแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก (แผลฉีกขาด ปนเปื้อนดิน ทราย สนิมและสิ่งสกปรก) ให้รีบทำความสะอาดแผล เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อโรค แอลกอฮอล์ 70 % แล้วรีบไปพบแพทย์

2. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักให้ครบตามกำหนด  ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 แนะนำให้เด็กควรได้รับวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ ตับอักเสบบี ฮิบ (DTwP-HB-Hib) ที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6เดือน และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) อีกครั้งเมื่อมีอายุ 18 เดือน และอายุระหว่าง 4-6 ปี และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก (Td) อีกครั้งเมื่อมีอายุ 11-12 ปี หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 10 ปี

3. สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือรับไม่ครบ 3 ครั้ง ควรได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (Td) 3 ครั้ง โดยมีระยะห่าง 0, 1 และ 6 เดือน หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 10 ปี


ข้อมูลอ้างอิง

ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย 2566 โดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

Diphtheria, Tetanus, and Pertussis Vaccine Recommendations

วัคซีนป้องกันโรคสําหรับผู้ใหญ่ และผู้สูงอาย

บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ

โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยัก

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
การรักษา
ผลิตภัณฑ์ยา
ยา
วัคซีน
สาระความรู้
อย.
บาดทะยัก
โรคบาดทะยัก
บาดแผล
Tetanus