อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น
เพื่อนำน้ำตาลไปสร้างเป็นพลังงาน
แต่ในคนที่เป็นเบาหวานบางคนไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้
จำเป็นต้องได้รับการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังมีความเชื่อผิด ๆ
เกี่ยวกับการใช้ยาฉีดอินซูลินอยู่ ในบทความนี้จะขอนำเสนอ 4 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาฉีดอินซูลิน
มาติดตามกันเลย
1. ผู้ที่ฉีดอินซูลิน แสดงว่าเป็นหนักหรือใกล้เสียชีวิต
ไม่เป็นความจริง
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินมีหลายประเภท เช่น
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1,
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ด้วยยารับประทานร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลัง
หรือเป็นโรคตับหรือโรคไต รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานในระยะตั้งครรภ์ ดังนั้น
ผู้ที่ฉีดอินซูลิน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอาการหนักหรือใกล้เสียชีวิต
2. ต้องเขย่าขวดหรือหลอดยาฉีดอินซูลินก่อนฉีด
ไม่เป็นความจริง ในความเป็นจริงแล้ว ห้ามเขย่าขวดยาเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดฟอง
ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบา ๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั้งขวด
และจะต้องไล่อากาศก่อนฉีดยา
3. หลังจากฉีดอินซูลินแล้วต้องนวดคลึงหรือถูบริเวณที่ฉีด
ไม่เป็นความจริง ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ควรนวดคลึงหรือถูบริเวณที่ฉีดหลังจากฉีดอินซูลิน
เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาเร็วไป หากมีเลือดออกบริเวณที่ฉีดอินซูลิน
ให้ใช้สำลีแห้ง กดลงบนตำแหน่งที่ฉีด
4. ถ้างดอาหารหรือคุมอาหารแล้วไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลิน
ไม่เป็นความจริง
ในความเป็นจริงแล้ว หากมีความจำเป็นต้องงดอาหาร
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและปรับขนาดอินซูลิน
หรือเลือกชนิดอินซูลินที่เหมาะสม
เนื่องจากยาฉีดอินซูลินแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์และเวลาหมดฤทธิ์ที่แตกต่างกัน
อินซูลินเป็นยาที่ใช้ได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะพิจารณาถึงอาการของโรคเบาหวานที่เป็น ซึ่งปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ด้วย ไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยาเองเพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาได้ นอกจากนี้ ควรเรียนรู้วิธีการฉีดอินซูลินที่ถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกรและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ข้อมูลอ้างอิง
4 คำถามยอดฮิต กับการใช้ยาฉีดอินซูลิน
รู้ลึก รู้จริง เรื่อง “อินซูลิน”
Insulin Products in Ramathibodi 2016
ยาฉีดอินซูลินสำคัญอย่างไรกับผู้ป่วยเบาหวาน