ต้อหิน โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
8 ตุลาคม 2567

ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากเส้นประสาทตาซึ่งเป็นตัวนำกระแสประสาทจากลูกตาไปยังสมองเสื่อมลงหรือถูกทำลาย ทำให้สูญเสียของการมองเห็นอย่างถาวรได้ ซึ่งโอกาสเกิดต้อหิน
 จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แม้ว่าต้อหินจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถป้องกันและควบคุมการสูญเสียของการมองเห็นได้

          อาการ โดยทั่วไปมักไม่มีอาการ ต่อมาจะสูญเสียการมองเห็นจากด้านข้างเข้ามาตรงกลางเรื่อย ๆ และตาบอดในที่สุด และอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดมาก
 เห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ มัวลงมาก และตาแดง ซึ่งเป็นอาการเร่งด่วนที่ต้องรีบมาพบแพทย์

ปัจจัยเสี่ยง

- ความดันตาสูงจนทำลายเส้นประสาทตา

- ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน

- อายุ 40 ปีขึ้นไป

- การใช้ยาที่อาจก่อให้เกิดความดันตาสูงบ่อย ๆ เช่น ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์

- ได้รับอุบัติเหตุหรือผ่าตัดตามาก่อน

การรักษาโรคต้อหิน

          ปัจจุบันการรักษาต้อหินด้วยการลดความดันตาเป็นการรักษามาตรฐานที่ได้รับการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าสามารถรักษาโรคต้อหินได้ การรักษาโรคต้อหินประกอบด้วย

1.       การรักษาต้อหินโดยการใช้ยา เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตาและจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน โดยยาหยอดตาเพื่อลดความดันในลูกตามีมากมายหลายกลุ่ม แพทย์อาจให้เริ่มใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันได้

 

กลุ่มของยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน

กลุ่มยา

กลไกการออกฤทธิ์

ตัวอย่างยา

Sympathomimetic

ลดการสร้างของของเหลวในลูกตา

เพิ่มการไหลออกของของเหลว

Brimonidine

Beta blocking agents

ลดการสร้างของของเหลวในลูกตา

ลดอัตราการไหลของของเหลวที่เข้าไปในลูกตา

Timolol

Carbonic anhydrase inhibitors

ออกฤทธิ์ลดการสร้างของเหลวในลูกตา

Dorzolamide, Brinzolamide

Parasympathomimetics

เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา

Pilocarpine, Carbachol

Prostaglandin analogues

เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา

Latanoprost, Bimatoprost,

Travoprost, Tafluprost,

Latanoprostene bunod

อื่น ๆ

 

Netarsudil, Omidenepag,

Ripasudil และยาสูตรผสม

 

 

นอกจากยาหยอดตาแล้ว ยังมียารูปแบบอื่น ๆ เช่น ยากิน ยาเม็ด หรือยาน้ำที่ช่วยลดความดันในลูกตาได้

          2. การรักษาต้อหินโดยการใช้แสงเลเซอร์ ซึ่งจะใช้สำหรับกลุ่มมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้เลเซอร์เท่านั้น เช่น การยิงเลเซอร์เจาะรูที่ม่านตาเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคต้อหินเฉียบพลันในผู้ที่มีมุมตาปิด และการยิงเลเซอร์ที่มุมตาเพื่อลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินมุมตาเปิด

          3. การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัด การรักษาต้อหินโดยการผ่าตัดมุ่งเน้นที่การทำช่องระบายน้ำภายในลูกตาเพื่อลดความดันตา มักใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอดตา

 

          หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาอย่านิ่งนอนใจ แนะนำให้รีบพบจักษุแพทย์โดยด่วน

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAknowledge
oryor
การรักษา
ผลิตภัณฑ์ยา
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ยา
สาระความรู้
อย.
ต้อหิน
โรคต้อหิน
ผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุ