ยุง
จัดเป็นพาหะนำโรคที่สามารถนำโรคมาสู่คนได้ การป้องกันโรคที่ติดต่อจากยุง
สามารถทำได้โดยการป้องกันไม่ให้ยุงกัดซึ่งมีหลากหลายวิธี โดยผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง
เป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันยุงกัดที่นิยม เนื่องจากมีราคาไม่สูงมาก
และหาซื้อได้ง่าย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงในท้องตลาด
มีทั้งชนิดเป็นขดกลมและเป็นแท่ง
มีวิธีใช้โดยการจุดไฟบริเวณหัวผลิตภัณฑ์จนเกิดการเผาไหม้
หลังจากนั้นสารออกฤทธิ์ที่ทำให้ยุงหงายท้อง (knock down)
จะระเหยออกมาพร้อมกับควัน
โดยส่วนใหญ่สารที่ออกฤทธิ์จะเป็นสารเคมีในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (pyrethroids)
วิธีใช้ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงอย่างถูกต้อง
มีดังนี้
1. ควรใช้ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี
ไม่ควรใช้ในสถานที่ปิด เช่น ภายในบ้านหรือห้องพัก
2. ขาตั้งและสิ่งรองผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง
ต้องทำด้วยวัสดุโลหะหรือวัตถุอื่นที่ไม่ติดไฟ
3. ล้างมือทุกครั้งหลังการหยิบใช้หรือสัมผัสผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง
4. เก็บผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงไว้ในที่มิดชิด
ให้พ้นมือเด็กและไม่วางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหาร
5. ขณะใช้
วางให้ห่างจากของไวไฟหรือของที่เป็นเชื้อไฟได้
6. เมื่อเลิกใช้แล้วควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไฟดับเรียบร้อยแล้ว
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้
ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงที่มีสารในกลุ่มไพรีทรอยด์
(pyrethroids) เป็นสารออกฤทธิ์จัดเป็นวัตถุอันตราย
ชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ผลิต ผู้นำเข้า
ต้องขอขึ้นทะเบียน และขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า ตามแต่กรณี
ดังนั้นจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส.
ในกรอบเครื่องหมาย อย. และควรอ่านฉลากก่อนใช้
รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้
การสูดดมควันของผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไอ หรือรู้สึกเจ็บคอ
และหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
หรือก่อให้เกิดอาการแพ้
แต่โดยทั่วไปการได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงมีน้อย
ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันยุงเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
ควรใช้วิธีป้องกันยุงด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุม
ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันยุงเข้า กางมุ้งหรือใช้มุ้งลวด
สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวและใส่ถุงเท้า