ไข้หวัดใหญ่ หรืออินฟลูเอนซา (Influenza virus) เป็นโรคที่ทุกคนทั่วไปน่ารู้จักกันเป็นอย่างดี แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่ม A, กลุ่ม B และ กลุ่ม C โดยที่กลุ่ม A และ กลุ่ม B เป็นเชื้อก่อโรคที่มักพบได้บ่อยมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกายได้ โดยอาการจะแตกต่างกันตามอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งหากได้รับเชื้อแล้วอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่
- เด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 5 ปี ขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- บุคลากรทางการแพทย์
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ว่า มีประสิทธิภาพที่ดีเพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้แล้วยังสามารถลดอาการรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย โดยจะฉีดให้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก ซึ่งควรได้รับการฉีดวัคซีนทุกปี วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ป่วยที่เป็นหรือมีประวัติเคยเป็นโรค Guillain-Barré Syndrome ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ผู้ที่มีอาการป่วยถึงขั้นรุนแรง ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปก่อน
คำแนะนำ
เนื่องจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 100% ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือใกล้ชิดผู้ป่วย หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.inf.ku.ac.th/intl/th/?p=3008
https://www.pidst.or.th/A281.html
Influenza Vaccination: A Summary for Clinicians | CDC
Influenza (Seasonal) (who.int)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) | โรงพยาบาลศิริราช
ปิยมหาราชการุณย์ (siphhospital.com)
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
( อย. ) (oryor.com)