![](https://filesys.oryor.com/data/printing/printing/173526467470018.jpg)
เนื่องจากฤดูหนาวเริ่มใกล้เข้ามา สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ
โรคที่มักจะมาพร้อมกับอากาศหนาว ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้
หรือการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ สาเหตุของโรคต่าง ๆ อาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือเกิดจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการหรือโรคกำเริบได้
ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพและเตรียมยาที่จำเป็นติดบ้านไว้ ดังนี้
1. ยาแก้ไอ : บรรเทาอาการไอ จะเป็นการรักษาตามลักษณะของการไอ
ได้แก่ ไอแห้ง และ ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งยาแก้ไอสำหรับอาการไอแห้งเป็นยากดอาการไอ (Antitussive) เช่น Dextromethorphan ส่วนยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะสามารถแบ่งได้เป็น 1) ยาขับเสมหะ
(Expectorant) เช่น Guaifenesin และ Ammonium
Chloride และ 2) ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) เช่น Acetylcysteine, Carbocysteine, Ambroxol และ Bromhexine
2. ยาพาราเซตามอล : บรรเทาอาการปวด ลดไข้ รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ปริมาณการใช้ขึ้นกับอายุและน้ำหนัก
ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะจะทำให้เกิดพิษต่อตับได้
3. ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก : บรรเทาอาการแพ้
เช่น น้ำมูกไหล และจามที่เกิดจากไข้หวัดหรือภูมิแพ้ แบ่งเป็น ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง
และชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง แต่ในบางคนอาจมีอาการง่วงได้
จึงมีข้อควรระวังเมื่อรับประทานยาแก้แพ้จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร
เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้
4. ยาอมแก้เจ็บคอ : บรรเทาอาการเจ็บคอ
ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากและลำคอ มีทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน
5. ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) : ใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
จากการท้องเสียหรืออาเจียนมาก โดยวิธีรับประทาน คือ ผสม
ORS กับน้ำสะอาดตามที่ระบุบนฉลาก และจิบเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
เมื่อผสมน้ำแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
ย้ำอีกครั้งว่าหากมีอาการเจ็บป่วย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
หากรับประทานยาไปแล้วมีอาการข้างเคียงหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
#ผลิตภัณฑ์ยา #ยาสามัญประจำบ้าน #ฤดูหนาว #โรคไข้หวัด #โรคภูมิแพ้ #โรคท้องเสีย
ข้อมูลอ้างอิง
-
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/ยาตัวไหนบ้าง-ที่ต้องกิน/
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/common-mistakes-in-using-antibiotics/
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/faci.envi/knowledge_detail.asp?id=8
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0266.pdf
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2153
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/media/checkSureShare/media_specify/648?ref=search
- สำนักคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2138?ref=search