
อย. เดินหน้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ร่วมกับ DSI และตำรวจ บก.ปคบ. ตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ย่านบางเขน พบเครื่องสำอางที่ไม่ขออนุญาตจดแจ้ง แสดงฉลากไม่ครบถ้วนและแสดงข้อความเกินจริง จึงได้ยึดของกลางและวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต เพื่อดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายต่อไป
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มี สารอันตรายและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 2 แห่ง คือ บ้านเลขที่ 18/325 ซอยคู้บอน 27 แยก 35 ถนนสยามธรณี แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ขออนุญาตจดแจ้ง และแสดงฉลากไม่ครบถ้วน ได้แก่ บิวรีดี ครีมรักษาสิว-ฝ้า จากสารสกัดเชอร์รี่ , ชิชาเกะ ครีมหน้าขาว โสมผสมไข่มุกญี่ปุ่น , เครื่องสำอางไม่จดแจ้งและฉลากไม่แสดงข้อความภาษาไทย โดยมีลักษณะภายนอกกระปุกครีมสีเงิน ฉลากระบุ “Non-comedogenic/donogenic Dermatologist /Allergytested” , ลักษณะภายนอกเป็นกล่องกระดาษ สีแดง-เงิน , ตลับสีฟ้า สีชมพู สีเขียว สีเทา-เงิน , เบโทโซน – เอ็น ครีม (เขียว) และ เบโทโซนครีม (แดง)
บ้านเลขที่139/12 ซอยคู้บอน 27 แยก 25 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ ผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่แสดงข้อความที่อาจทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ แสดงข้อความเกินจริง เช่น กระชับ รูขุมขน ช่วยในการระงับเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขน อันเป็นสาเหตุของการอุดตันของสิว ลดเลือนริ้วรอย ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ เป็นต้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ คิโยโนะ เพอร์เฟ็ค พอร์เลส เซรั่ม , คามิน่า สบู่ขมิ้นชัน ผสมวิตามินบี 3 , คิโยโนะ เพอร์เฟ็ค ซันสกรีน เอ็กซ์ตร้า เนเจอรัล เอสพีเอฟ 50 พีเอ+++ , คิโยโนะ รีแพร์ ไวท์ ครีม , Kamina Spa Detox Rose Clay Lifting & toning , คามิน่า-อี ยูวี ไวท์ เอสพีเอฟ 50 , Kamina-E Oil Free Acne Gel ที ทรี ออยล์ เจลลดสิว , คิโยโนะ แอบโซลูท รีเจนเนอร์ริส แอนติ เอจจิ้ง ครีม , คิโยโนะ แอนติ แอคเน่ เอสเซ้นส์ เครื่องสำอางไม่จดแจ้งและ/หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน ได้แก่ ®KAMINA-E Green Tea Body White Cream , ภูไท ทรีทเม้นท์ อายเจล และ ภูไท โคลนพอกหน้า จึงได้ยึดของกลางและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการผลิต เพื่อดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายต่อไป
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ในส่วนของผู้บริโภค ควรซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ส่วนประกอบทั้งหมด วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ และคำเตือน (ถ้ามี) หากเป็นเครื่องสำอางลักลอบนำเข้า ไม่แสดงฉลากภาษาไทย อาจได้รับอันตรายจากการใช้ รวมทั้งไม่สามารถหาผู้ผลิต/ ผู้จำหน่ายมารับผิดชอบหากเกิดความผิดปกติหรือเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย และขอให้ผู้บริโภคแจ้งเบาะแสผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด