อย. เผยผลงาน ฟันคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการผิดกฎหมาย กว่า 3,000 คดี ค่าปรับ 41 ล้านบาท ยกเลิกเลข อย. กว่า 4,700 รายการ
30 มีนาคม 2564

            อย. เผยผลงานปี พ.ศ. 63 - มกราคม 64 จัดการปัญหาโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการที่ผิดกฎหมายกว่า 3,000 คดี คิดเป็นค่าปรับกว่า 41 ล้านบาท ยกเลิกเลข อย. กว่า 4,700 รายการ ยืนยัน อย. จะเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณา รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเคร่งครัด และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาเป็นเท็จ หลอกลวง และได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย

           เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2563 - มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการผลิต นำเข้า จำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีและการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้

  1. สั่งระงับโฆษณาผิดกฎหมายและดำเนินคดี 1,706 คดี
  2. เปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 3,053 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 41,429,250 บาท และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 446 คดี
  3. ออกคำสั่งทางปกครอง โดยยกเลิกเลขสารบบอาหาร 874 รายการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเขื่อโดยไม่สมควร ในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค, การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล, เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ และสถานที่ผลิต นำเข้า มีสภาพร้าง เป็นต้น  และเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง 3,837 รายการ ด้วยเหตุจากการผลิตเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือไม่มีสภาพเป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง
  4. ปราบปรามการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 164 คดี คดีที่สำคัญ เช่น การปราบปรามการลักลอบจำหน่ายชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ถุงมือตรวจโรคทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ยาทำแท้ง รวมมูลค่าของกลาง 991,044,340 บาท

           รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และสมประโยชน์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หากพบเห็นหรือสงสัยโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ https://www.fda.moph.go.th/

คลังรูปภาพ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
FDAnews
โฆษณา
โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
โฆษณาผลิตภัณฑ์
สุภัทรา บุญเสริม
อย.