เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนมอนสเตอร์ ที่คาดว่าทำให้เด็กเสียชีวิตไม่มีการนำเข้าในไทย
7 พฤศจิกายน 2555

กรณีข่าวเด็กหญิงจากรัฐแมริแลนด์วัย 14 ปี เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นจากภาวะกาเฟอีนเป็นพิษ ภายหลังจากดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อมอนสเตอร์ 2 กระป๋องในเวลา 24 ชั่วโมง โดยทางครอบครัวได้ฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อนี้ว่า ไม่เตือนถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้องค์การอาหารและยาสหรัฐ (ยูเอสเอฟดีเอ) กำลังตรวจสอบหลังจากพบผู้เสียชีวิต 5 ราย และผู้ป่วยจากอาการหัวใจล้มเหลว ที่อาจเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยจากการตรวจสอบการนำเข้าของด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าไม่มีการนำเข้าเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนยี่ห้อมอนสเตอร์แต่อย่างใด

เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน จัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 พ.ศ.2524 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ซึ่งต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตลอดจนการแสดงฉลากตามประกาศฯ เนื่องจากสารกาเฟอีนมีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิตอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากได้รับในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นประจำ ทั้งนี้ อย. ได้กำหนดปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนสังเคราะห์ ไม่ให้เกิน 50 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และฉลากต้องระบุข้อความว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน” ด้วยตัวอักษรสีแดงบนพื้นขาว มองเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณกาเฟอีนในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนของ อย. ในปี 2548-2554 จำนวน 199 ตัวอย่าง พบว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จำนวน 18 ตัวอย่าง ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว

เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ร่างกายจะดูดซึมกาเฟอีนจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 45 นาที กาเฟอีนเป็นสารที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทที่ชื่อโดปามีน และมีสารซีโรโทนิน จึงทำให้สมองตื่นตัวและเพิ่มความรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข หากได้รับกาเฟอีนในปริมาณ 400 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ พูดสับสน หน้าแดง ปัสสาวะมากผิดปกติ ปวดท้อง หัวใจเต้นแรง และหากได้รับกาเฟอีนปริมาณ 150 - 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้หากได้รับกาเฟอีนปริมาณมากร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจจะยิ่งได้รับอันตรายเพราะแอลกอฮอล์มีผลในการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ถี่ขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น

เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ไม่เหมาะสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่เป็นโรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนควรอ่านคำเตือนในฉลาก ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นกับผู้ดื่มได้ รวมทั้งไม่ควรซื้อตามคำโฆษณาที่เชิญชวนให้บริโภคทำให้เข้าใจว่าดื่มแล้วเพิ่มกำลังและทำงานได้มากขึ้น ซึ่งในความจริงแล้วเราสามารถเพิ่มพลังงานได้จากอาหารที่เราบริโภค เพียงแต่เราบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ เพียงเท่านี้ร่างกายก็ได้รับพลังงานเกินพอแล้ว อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง
เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน
มอนสเตอร์ 
โดปามีน
สารซีโรโทนิน