
อย. บูรณาการทุกภาคส่วนสุ่มตรวจปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภค
มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับไอโอดีนที่เพียงพอและเหมาะสม
ลดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เภสัชกรเลิศชาย
เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ไอโอดีน
(Iodine)
คือแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายช่วยในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์
ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย
มีส่วนช่วยในการเจริญและเติบโตของระบบประสาทและสมอง สำหรับอาหารที่มีสารไอโอดีนตามธรรมชาติพบมากในพืชและสัตว์ทะเล
เช่น ปลาทะเล กุ้งทะเล สาหร่ายทะเล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งชาติในการป้องกันและแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) ได้ออกกฎหมายกำหนดให้มีการเสริมไอโอดีนในเกลือบริโภค 20
- 40 ppm น้ำปลา ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง
และน้ำเกลือปรุงอาหาร 2 - 3 ppm อย. จึงร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องไอโอดีนตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 - 2570 เพื่อให้ประชาชนได้รับเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนที่ได้มาตรฐาน และได้รับไอโอดีนเพียงพอและเหมาะสม โดยติดตามและเฝ้าระวังปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง และติดตามแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
ให้คำแนะนำผู้ประกอบการทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาเครื่องมือช่วยคำนวณปริมาณไอโอดีนในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการ
และร่วมกับสถาบันโภชนาการ
มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการผลิต และเทคนิคในการควบคุมคุณภาพการผลิต ทำให้ในปีงบประมาณ 2567 พบว่ามีปริมาณไอโอดีนในเกลือบริโภคสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดร้อยละ
90.1 ซึ่งต้องมีการพัฒนายกระดับการควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
รองเลขาธิการฯ
อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อขจัดโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยจากทุกภาคส่วน
โดยขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน
พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามข้อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ
อย. เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั่วประเทศ และบรรลุเป้าหมายในการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนต่อไป