อย. ดำเนินคดีผลิตภัณฑ์สุขภาพรวม 91 ราย พบสารกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้มากสุด
30 มกราคม 2556

          อย.เผย พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้หลายรายการ กลุ่มคาร์บาเมต กลุ่มไพรีทรอยด์ และกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส  พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โซเดียมไซคลาเมต ในมะเขือเทศอบแห้ง พบวัตถูกันเสีย ในซอฟเค้กสอดไส้ครีมรสสตรอเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ฟรุ๊ต เบส เพรพเพอเรชั่น (สมูทตี้และแต่งหน้าขนม) ทั้งนี้ อย. ได้ดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมเรียกคืนสินค้ารุ่นที่มีปัญหาออกจากท้องตลาดทันทีตั้งแต่พบปัญหา และพบการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตในผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างลดความอ้วน อ้างรักษาโรคเรื้อรัง จึงได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์  และเครื่องสำอาง รวม 91 ราย รวมเป็นเงินค่าปรับมากกว่า 1 ล้านบาท

          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในช่วงพฤศจิกายน 2555 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 59 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 จำนวน 17 ราย พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2531 จำนวน 10 ราย และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 จำนวน 5 ราย  รวมทั้งสิ้น 91 ราย  คิดเป็นมูลค่า 1,155,000 บาท

          เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกรณีในกรณีต่างๆ เช่น กรณีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ต่างๆ ได้แก่ บล็อกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลีสีม่วง แครอทแห้ง แก้วมังกรสด  จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน พบวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โซเดียมซัยคลาเมต ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ในมะเขือเทศอบแห้ง พบวัตถูกันเสียในซอฟเค้กสอดไส้ครีมรสสตรอเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ฟรุ๊ต เบส เพรพเพอเรชั่น (สมูทตี้และแต่งหน้าขนม) ซึ่งมีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ ได้แก่  นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โฆษณาอวดอ้างช่วยลดน้ำหนัก ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ภูมิแพ้ โรคหอบหืด โลหิตจาง เป็นต้น ซึ่งเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริง เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีสรรพคุณในทางยาดังที่โฆษณา ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวมากถึง 40 ราย และในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทผ่านผิวหนังด้วยกระแสไฟฟ้า เครื่องนวดไฟฟ้า โดยโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาตรวม 10 ราย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง จำนวน 4 ราย

          อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนอย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ผลตามที่โฆษณาอวดอ้าง มิหนำซ้ำยังอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้น หรือเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ อย. ได้มีการดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ในความรับผิดชอบของ อย.เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้กระทำผิดพร้อมรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th คลิก “  ผลการดำเนินคดี ” เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตจาก อย. แต่ไม่ขออนุญาต หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556  เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
บุญชัย สมบูรณ์สุข
สารกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้
คาร์บาเมต
ไพรีทรอยด์
ออร์กาโนฟอสฟอรัส