อย. เผยอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในส้มสด องุ่นสด นอกจากนี้ยังคงพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างทำให้ผิวขาว ลดความอ้วน ฟื้นฟูสมองช่วยให้ความจำดี โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น โฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ อย. จึงได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวม 105 ราย เป็นเงินค่าปรับกว่า 9 แสนบาท พร้อมเตือนผู้ประกอบการ หากกระทำผิดซ้ำจะได้รับโทษทวีคูณ สำหรับผู้บริโภค หากพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดำเนินการให้หลาบจำ
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 53 ราย พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำนวน 41 ราย พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 จำนวน 6 ราย พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 จำนวน 4 ราย และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 1 ราย รวมทั้งสิ้น 105 ราย คิดเป็นมูลค่า 959,800 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร ได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ พบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีนในส้มสด และกลุ่มไพรีทอยด์ในองุ่นสด ซึ่งมีคุณภาพมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ดำเนินคดีในข้อหานำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ ได้แก่ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างช่วยทำให้ ผอม ขาว และระบบขับถ่ายดี กระชับผิว บางผลิตภัณฑ์อ้างช่วยปรับฮอร์โมนกระชับภายใน ฟื้นฟูสมอง ช่วยให้ความจำดี ช่วยทำให้โรคเบาหวาน ภูมิแพ้ดีขึ้น บรรเทาโรคมะเร็งปอด หอบหืด เนื้องอกในมดลูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยา พบโฆษณาทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในลักษณะทำให้หายใจสะดวกขึ้น หลับลึก เสียงนอนกรนลดลง โดยมีผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นการขายยาโดยแสดงสรรพคุณ อันเป็นเท็จ มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น มีการโฆษณาสรรพคุณบำรุงหัวใจ ปอด สมอง และรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคตับ โรคไต เป็นต้น ซึ่งเป็นการขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เป็นการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่ห้ามโฆษณา นอกจากนี้พบการนำเข้ายาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านนำเข้า พบการขายยาแผนปัจจุบันไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาตโดยมียาอันตรายไว้เพื่อจำหน่าย อีกทั้งไม่จัดทำบัญชีการซื้อและขายยา และขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น ช่วยปรับสีผิวบริเวณหัวนมและปานนมที่ดำคล้ำ ทำให้ผิวกระจ่างใส ชุ่มชื่น นุ่มเนียน แลดูเป็นสีชมพูอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วยเนรมิตให้คุณกลับมาสวยอย่างวัยแรกสาวได้อีกครั้ง อ้างช่วยลดริ้วรอยแห่งวัยที่สะสมตลอด 1 ปี ได้ภายในเวลา 6 สัปดาห์ เป็นต้น
อย. ได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และหากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำซากก็จะเพิ่มโทษทวีคูณ ทั้งนี้ขอแนะนำผู้บริโภคให้เลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย โดยอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง และอย่าหลงเชื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง อาหารไม่ใช่ยาจะต้องไม่โฆษณาในทางยา เช่น ต้องไม่อ้างรักษาโรค หรือลดความอ้วน ส่วนผลิตภัณฑ์ยาต้องไม่โฆษณาว่าสามารถรักษาโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต ให้หายขาด ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องไม่โฆษณาว่าสามารถเปลี่ยนสีผิวให้ขาวกว่าธรรมชาติ ไม่อวดอ้างรักษาสิว แก้ฝ้า และไม่โอ้อวดว่าสามารถขยายทรวงอกได้ ซึ่งหากพบผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผิดกฎหมาย หรือพบการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด