อย. บุกจับแหล่งผลิตอมยิ้มปลอม ย่านทุ่งครุ พร้อมแนะผู้ปกครองถึงวิธีเลือกซื้อขนม
2 มิถุนายน 2554

          อย. ร่วมมือกับ บก.ปคบ. เข้าตรวจสอบแหล่งผลิตอมยิ้มปลอมย่านทุ่งครุ ที่ผลิตเลียนแบบยี่ห้อที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง พร้อมทั้งเตือนอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก หากผลตรวจวิเคราะห์พบคุณภาพมาตรฐานของสีไม่ได้มาตรฐาน   

          หลัง อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ผลิตอมยิ้มแห่งหนึ่งว่ามีผู้ลักลอบผลิตอมยิ้มปลอมเลียนแบบการผลิตอมยิ้มโรงงานตนเอง จึงได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าวย่านทุ่งครุ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอมยิ้มที่ไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวได้ผลิตอมยิ้มจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ตลาดน้ำ ตลาดโบราณ และจากการตรวจสอบพบอมยิ้มที่ผลิตเลียนแบบ อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต เช่น กระทะ เตาแก๊ส หม้อต้ม เครื่องพิมพ์ เครื่องขึ้นรูปพร้อมทั้งฉลาก และซองที่เตรียมบรรจุ จึงยึดของกลางทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน พร้อมนำตัวอย่างอมยิ้มไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานของสีผสมอาหารที่ใช้ผสมในอมยิ้ม ว่าได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดหรือไม่

                ทั้งนี้ สีผสมอาหารได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี จึงมีการกำหนดปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน โดยสีที่ใช้ได้ในปริมาณไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม คือ

สีแดง ได้แก่ เอโซรูบีน เออริโทรซิน

สีเหลือง ได้แก่ ตาร์ตราซีน ซันเซ็ตเย็ลโลว์ เอ็ฟ ซี เอ็ฟ

สีเขียว ได้แก่ ฟาสต์ กรีน เอ็ฟ ซี เอ็ฟ

สีน้ำเงิน ได้แก่ อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกติน

นอกจากนี้ ยังมีสีที่ใช้ได้ในปริมาณไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่ออาหารในลักษณะที่ใช้บริโภค 1 กิโลกรัม คือ

สีแดง ได้แก่ ปองโซ 4 อาร์

สีน้ำเงิน ได้แก่ บริลเลียนบลู เอ็ฟ ซี เอ็ฟ

ถึงแม้สีผสมอาหารจะเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่อนุญาตให้ผสมในอาหารได้ แต่สีผสมอาหารไม่ใช่สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กลับเป็นภาระของร่างกายที่ต้องคอยทำลายทิ้ง หากได้รับในปริมาณมากหรือบ่อย ๆ สีผสมอาหารจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อาจมีอาการของตับและไตอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

                ด้วยเหตุนี้ อย. ขอเตือนผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ปกครอง ควรให้คำแนะนำบุตรหลานในการเลือกซื้อขนม อย่าเลือกซื้อขนมที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย. หรือลูกอมที่มีสีฉูดฉาด หรือบรรจุอยู่ในภาชนะที่แปลกตา มาบริโภคเด็ดขาด หากพบเห็นแหล่งผลิต/แหล่งจำหน่ายใดคาดว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนแจ้งมายังสายด่วน อย. โทร.1556 เพื่อ อย. จะได้ติดตามตรวจสอบจับกุมและลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ผลิตอมยิ้มปลอม
สีผสมอาหาร