อย. เผย ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่ผ่านมา สั่งระงับ เปรียบเทียบปรับโฆษณาผิดกฎหมายจำนวนมาก ทั้งการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ทางสื่อต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดกั้นโฆษณาที่ผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หากพบเบาะแส การโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินคดีให้หลาบจำ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำหรับในส่วนภูมิภาคมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ
ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2556 อย. ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 109 ราย ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 15 ราย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ จำนวน 8 ราย และเครื่องสำอาง 4 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 136 ราย ส่วนมากพบการโฆษณาทางนิตยสาร โทรทัศน์ดาวเทียม และเว็บไซต์ โดยพบโฆษณาในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขออนุญาตโฆษณา ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น โฆษณาอ้างทำให้ผอมและขาวในสูตรเดียว พิสูจน์แล้วลดได้จริงไม่โยโย่ เผาผลาญไขมันหน้าท้อง สะโพก ต้นขา ลดน้ำหนักแบบผ่อนคลาย 8 วัน 4 กิโล ไม่เพลีย ไม่โทรม “อ้างช่วยบำรุงผิวให้เนียนนุ่ม ดูเปล่งปลั่ง ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด บรรเทาอาการเส้นเลือดขอด ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ” “ อ้างช่วยเกี่ยวกับการทำงานของระบบเลือด ทำให้อายุยืน” “อ้างช่วยรักษาโรค ทำให้ผู้ป่วยโรค SLE ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่เหนื่อยงาน แข็งแรงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคไมเกรน โรคเนื้องอกในมดลูก เนื้องอกหลุดออกมา ไขมันในเลือดลดลง” “อ้างช่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันในเลือด” นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์แอบอ้างเป็น สมุนไพรกระชับ เพิ่มหน้าอก จุดซ่อนเร้น รอบเดือน ตกขาว คัน กลิ่น คืนความสาวอีกครั้ง ซึ่งข้อความโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและเข้าข่ายหลอกลวงโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถอวดอ้างรักษาโรคได้ สำหรับผลิตภัณฑ์ยา พบการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ พบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวด เกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค โดยดำเนินงานร่วมกับ กสทช. และ บก.ปคบ. อย่างใกล้ชิด และดำเนินคดีกับผู้โฆษณาและเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค จึงขอเตือนมายังผู้บริโภค ควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ก็ตามที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารอวดอ้างรักษาโรค ผลิตภัณฑ์ยาอ้างรักษาโรคที่รัฐมนตรีประกาศห้ามโฆษณา เช่น มะเร็ง เอดส์ อัมพาต โฆษณาอวดอ้างว่าเป็นยาบำรุงกาม ไม่ว่าจะเป็นข้อความโฆษณา หรือการนำบุคคลมีชื่อเสียงมาอ้างอิงว่าใช้แล้วได้ผล อย่ารีบด่วนตัดสินใจซื้อ ควรศึกษาข้อมูล สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาต และอาจมีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ทำให้ได้รับผลข้างเคียงต่อร่างกาย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องได้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพฝ่าฝืนกฎหมาย โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ สายด่วน กสทช. 1200 หรือ สายด่วน บก.ปคบ. 1135
|