คณะกรรมการยาเห็นชอบปรับยกระดับยาสำหรับสัตว์ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จำพวก
ยาสงบประสาท 4 กลุ่ม เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” แล้ว หลังมิจฉาชีพนำไปก่ออาชญากรรม พร้อมกำหนดมาตรการเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ว่า จากกรณีการเสนอยกระดับยาไซลาซีน (Xylazine) เป็นยาควบคุมพิเศษ หลังจากมีมิจฉาชีพนำยาดังกล่าวไปใช้ในการก่ออาชญากรรมนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบยกสถานะยาสำหรับสัตว์ที่เป็นยาสงบประสาท จาก “ยาอันตราย” เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” จำนวน
4 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอัลฟ่า-2-อะเดรเนอจิค อะโกนิสต์ (alpha-2-adrenergic agonist) อาทิเช่น ไซลาซีน (Xylazine),
เดโทมิดีน (Detomidine), เมเดโทมิดีน (Medetomidine), เด็กซ์เมเดโทมิดีน (Dexmedetomidine), โรมิฟิดีน (Romifidine) 2.กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เดริเวทีฟ (Benzodiazepine derivative) อาทิเช่น โซลาซีแปม (Zolazepam) สูตรตำรับยาเดี่ยวและผสม 3.กลุ่มบิวทีโรฟีโนน เดริเวทีฟ (Butyrophenone derivative) อาทิเช่น อะซาเพอโรน (Azaperone), โดรเพริดอล (Droperidol) 4.กลุ่มฟีโนไทอะซีน เดริเวทีฟ (Phenothiazine derivative) อาทิเช่น อะเซโพรมาซีน (Acepromazine) โดยกำหนดให้แสดงข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ดังนี้ “ขายตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น และ ใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า หลังจากยกระดับยาใน 4 กลุ่มดังกล่าวแล้ว ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า และจำหน่าย จะต้องจัดทำบัญชีและเก็บรายงานไว้ที่สถานประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่าย โดยไม่น้อยกว่าวันหมดอายุของรุ่นการผลิตของยานั้น และร้านขายยาจะต้องขายยากลุ่มดังกล่าวให้แก่ผู้ที่มีใบสั่งยาของสัตวแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ หากผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนกฎระเบียบดังกล่าว จะได้รับโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท และหากเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำร้านขายยา หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ประจำร้านขายยา จะได้รับโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการขายผลิตภัณฑ์ยาโดยไม่ใช่ร้านขายยา หรือขายยาโดยไม่มีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรืออีเมล : 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเอง พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป