อย. เดินหน้า จับมือตำรวจ ปคบ. และ สสจ. มหาสารคาม บุกจับแหล่งผลิตยาเม็ดลูกกลอน โฆษณาสรรพคุณอ้างรักษาโรคปวดข้อ ปวดเส้น กระดูกทับเส้น ภูมิแพ้ ไซนัส หอบหืด ตรวจพบมียาแผนปัจจุบันเด็กซา เมทาโซน ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และพบยาไดโคลฟีแนค ยาในกลุ่มยาแก้ปวด จัดเป็นยาอันตรายผสมอยู่ ยึดของกลาง มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท พร้อมดำเนินคดีโทษฐานผลิตยาแผนโบราณ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อยาลูกกลอนหรือยาชุดที่อ้างรักษาสารพัดโรค หากมีการใส่ยาสเตียรอยด์ จะมีผลข้างเคียงสูง ถึงขั้นเสียชีวิต
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา , ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษก อย. ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ., พ.ต.อ.ไพฑูรย์ คุ้มสระพรหม รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.อานันท์ วิชเศรษฐสมิต สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในกวาดล้างการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปจากเมืองไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนองนโยบายดังกล่าวอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. ทลายจับยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและลักลอบใส่ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง เพราะมักพบปัญหาการใส่ยาสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ และประชาชนบางส่วนเชื่อว่ารับประทานแล้วอาการเจ็บป่วยหายและได้ผลเร็ว โดยไม่รู้ว่ายาดังกล่าวมักไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและอาจมีส่วนผสมของยาอันตราย ดังนั้น อย. จึงประสานงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวัง เพื่อมิให้ประชาชนในท้องถิ่นตกเป็นเหยื่อ ล่าสุด สสจ. เชียงใหม่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลสันทรายว่ามีประชาชนซื้อยาลูกกลอนสมุนไพรจากคนในชุมชน ลักษณะเป็นยาเม็ดลูกกลอน จัดเป็นชุด ๆ ละ 5 เม็ด มี 3 สี คือสีแดง 2 เม็ด สีน้ำตาล 2 เม็ด และสีดำ 1 เม็ด ฉลากระบุ ยาสมุนไพร หมอชู โฆษณาสรรพคุณรักษาโรคปวดข้อ ปวดเส้น กระดูกทับเส้น ภูมิแพ้ ไซนัส โรคหอบหืด และมียาชุดลักษณะดังกล่าวฉลากระบุ เภสัชกรแพทย์แผนไทย ทองอินทร์ จึงได้ส่งตรวจวิเคราะห์สเตียรอยด์ พบว่า ยาเม็ดสีแดงและสีน้ำตาล พบเด็กซาเมทาโซน ไดโคลฟีแนค และวิตามินบี 1 ยาเม็ดลูกกลอนสีดำ พบยาไดโคลฟีแนค เพื่อมิให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากยาเม็ดลูกกลอนดังกล่าว ทาง อย. จึงได้ประสานงานกับเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ สืบสวนพบว่า ยาลูกกลอนที่พบปัญหานั้น ผลิตและขายอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ อย. จึงได้ขอความร่วมมือจากตำรวจ ปคบ. ในการติดตามและตรวจจับ โดยประสานไปที่ สสจ. มหาสารคาม นำหมายค้นของศาลจังหวัดมหาสารคาม เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิต 2 แห่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 แห่งแรก เลขที่ 2 ซอยริมคลองสมถวิล 3 ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม และแห่งที่สองคือสถานที่ผลิตยาแพทย์แผนไทย ทองอินทร์เภสัช เลขที่ 1348/3 ถ.สมถวิลราษฎร์ 3 ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ผลการตรวจจับ พบวัตถุดิบ สมุนไพรที่ใช้ผลิตยาจำนวนมาก และพบยาเม็ดลูกกลอนสำเร็จรูปที่มีหลายทรงและหลายสี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตัวอย่างเช่น เหงือกปลาหมอ พริกไทย ผสมน้ำผึ้ง (ยาลูกกลอนเม็ดกลมสีดำ) อ้างสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคภูมิแพ้ หวัดเรื้อรัง หืดหอบ อาการนอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ , หญ้าหนวดแมวผสมน้ำผึ้ง (ยาลูกกลอนเม็ดกลมสีดำ) อ้างสรรพคุณ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อยบั้นเอว ,
ยากัดไขมัน (ผู้ที่มีความอ้วนผิดปกติ) (ยาสมุนไพรปรุงเฉพาะคนไข้) อ้างสรรพคุณ ใช้รักษาโรคกัดไขมันในเส้นโลหิต ละลายไขมันทั่วร่างกาย และลดความดันสูง-ต่ำ และยาแผนโบราณไม่มีฉลาก เป็นต้น มูลค่าของกลางกว่า 1.5 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางและเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หายาสเตียรอยด์ต่อไป
ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาที่จะดำเนินคดี คือ ผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เลขาธิการ ฯ อย. กล่าวต่อว่า การลักลอบผสมยาเด็กซาเมทาโซน ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายและควบคุมการใช้โดยแพทย์เท่านั้น เพราะแม้เป็นยาที่ดูเหมือนจะให้ผลการรักษาหายเร็วทันใจ แต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงมากมาย เช่น มีอาการบวมน้ำ กระดูกผุ เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงอาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ ภูมิต้านทานโรคต่ำ บางรายถึงขั้นไตวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบยาไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด มีฤทธิ์ลดการอักสบ เช่นปวดข้อปวดกระดูก จัดเป็นยาอันตราย ต้องจ่ายยาโดยเภสัชกร ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะมีผลข้างเคียงมากมาย โดยมีฤทธิ์ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หากแพ้ยา จะทำให้คลื่นไส้มาก หายใจติดขัด อาการอื่นที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ ผื่นคัน สภาวะตับอักเสบ ไตล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะนี้ยังปรากฏว่ามีการระบาดของยาชุดในต่างจังหวัดอยู่จำนวนมากและแผ่วงกว้างไปทั่ว โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้แรงในการทำงาน ซึ่งมักจะพบว่า ยาชุดดังกล่าวมีการลักลอบผสมยาสเตียรอยด์ และยาอันตรายอื่น ๆ ที่สำคัญโฆษณาชวนเชื่ออวดอ้างรักษาสารพัดโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคข้อ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น เมื่อใช้ยาในช่วงแรก ๆ จะรู้สึกหายเร็วทันใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แค่เป็นการบดบังภาวะโรค เข้าใจว่าเป็นยาดี กินแล้วถูกกับโรค ทำให้มีการกินอย่างต่อเนื่อง เกิดการสะสมพิษของยา ทำให้เจ็บป่วยหนักกว่าเดิม บางรายถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุดอย่างไรก็ตาม อย. จะเดินหน้ากวาดล้างยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ที่จะเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ยา นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกับองค์กรอิสระ มูลนิธิต่าง ๆ ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อยาแผนโบราณ ดังนั้น ขอแนะนำผู้บริโภค ควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตถูกต้อง และควรตรวจสอบฉลากยา โดยฉลากต้องระบุชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา และแสดงคำว่า “ยาแผนโบราณ” ให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น หากพบเบาะแสการผลิต/จำหน่ายยาแผนโบราณผิดกฎหมาย หรือทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ขอให้แจ้งมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน บก.ปคบ 1135 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด