
อย. เข้ม จับมือกับ บก.ปคบ. เดินหน้ากวาดล้างร้านขายยาผิดกฎหมาย หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สสจ.สระบุรี ว่าพบร้านขายยาที่ขายยาแก้ไอผสมโคเดอีน ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และ 4 หลังตรวจพบกระทำผิดถึง 6 ข้อหา ทั้งขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ฝ่าฝืนมาตรา 13 ทวิ มีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 โดยไม่มีใบอนุญาต และขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เป็นต้น แจ้งข้อหาทั้งจำและปรับ ยึดของกลางมูลค่ากว่า 5 แสนบาท ย้ำ! อย. พร้อมกับตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด จะเข้มงวดกวดขันมิให้มีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพกระทำผิดกฎหมายและลอยนวล เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำงานเพื่อราชการและประชาชน
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ. , พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 และ พ.ต.ท.พยม พูลเขตรกิจ สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ว่า มีการครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ชื่อ pms-CEDIPECT® ในร้านขายยา ลักษณะสีเขียว-แดง ฉลากระบุส่วนประกอบของโคเดอีน และจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และ 4 พร้อมจำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา นั้น เพื่อกวาดล้างร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมาย และปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา อย. จึงได้ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดสระบุรีที่ ค.53/2557 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2257 ตรวจสอบร้านขายยาชื่อ “ยาเภสัชกร” เลขที่ 75 ถ.สุดบรรทัด ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี โดยมีนายสมศักดิ์ พนมรัตนรักษ์ เป็นผู้ดูแลร้านและนำตรวจค้น ซึ่งผลจากการตรวจสอบพบการขายยาที่ผิดกฎหมาย ดังนี้
1. พบยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (Cedipect) ได้แก่ pms-CEDIPECT®Lot 00314 , 00414 , 00714 , 10013 และ 10213
2. พบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 , 4 เช่น TIPPY FU , INZOLAM , ALNAX-0.25 , Tenmed 5 , LORAZIN และ ANXIRA-1.0 เป็นต้น
3. พบยาแผนปัจจุบันที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ได้แก่ วัตถุสีม่วง ด้านหนึ่งมีรอยบวกแบ่งครึ่ง บรรจุในภาชนะทึบแสงไม่มีฉลากแสดง ประมาณ 49,269 เม็ด และวัตถุสีเขียวอ่อน ด้านหนึ่งมีรอยบวกแบ่งครึ่ง บรรจุในภาชนะทึบแสงไม่มีฉลากแสดง ประมาณ 48,000 เม็ด
นอกจากนี้ ยังพบยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ 8 รายการ ได้แก่ ยากระตุ้นทางเพศ Red Aut Cream , ยากระตุ้นทางเพศ Caverta 100 G , ยากระตุ้นทางเพศ ตราหมาป่า , ยากระตุ้นทางเพศ Plant Viagra 200 mg ,ยากระตุ้นทางเพศ Super Kamagra , ยากระตุ้นทางเพศ ตราหัวหมาป่า ตลับสีน้ำเงิน , ยากระตุ้นทางเพศ Kamagra 100 mg และยาโสมกล่องสีเหลืองภาษาจีน รวมทั้งพบผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีเลขสารบบอาหาร หรือไม่มีเลข อย.คือ กาแฟสำเร็จชนิดผง Slim Plus Coffee และผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเลข อย. ที่ตรวจสอบไม่พบว่าได้รับอนุญาตมาใส่ ในฉลาก คือ กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง Booms อีกด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึง จับกุมผู้กระทำผิด พร้อมยึดของกลางมูลค่ากว่า 5 แสนบาท ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ยึดไว้จะนำส่งตรวจวิเคราะห์หาสารอันตราย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ในเบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้
1. มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
2. ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ฝ่าฝืนมาตรา 13 ทวิ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท
3. ขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
4. ขายยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการมีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
6. จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
7. จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีการแสดงฉลากเพื่อลวง ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยจำหน่ายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ร้านขายยาทุกร้านทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่าได้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการขายยาเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย , ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต , ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา , ขายวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ที่สำคัญ เภสัชกรประจำร้านยาต้องอยู่ดำเนินการตลอดเวลาที่เปิดทำการจำหน่ายยา ทั้งนี้ นอกจากโทษที่ได้ระบุดังกล่าวแล้ว ทาง อย. จะส่งข้อมูลเภสัชกรที่คุมร้านให้สภาเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพด้วย โดยเฉพาะที่จำหน่ายวัตถุที่ออกฤทธิ์ ยาเสพติดให้โทษที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ซึ่งทาง อย. จะดำเนินการพักใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน จนกว่าจะดำเนินคดีสิ้นสุด ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการร้านขายยาทุกร้านคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม และความปลอดภัยของประชาชนด้วย รวมทั้ง ขอให้ประชาชนคนไทยหันมาซื้อยาจากร้านยาคุณภาพ หรือร้านขายยาทั่วไปที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และต้องมีเภสัชกรประจำร้านให้บริการท่านในการแนะนำให้ใช้ยาอย่างปลอดภัย เพื่อมิให้ได้รับอันตรายหรือผลข้างเคียงใดใดจากการใช้ยาเป็นอันขาด นอกจากนี้ จะได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดตรวจสอบและกวดขันมิให้มีผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายดังกล่าวในท้องที่ของแต่ละจังหวัดอีกด้วย หากผู้บริโภคท่านใดพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 และสายด่วน บก.ปคบ. 1135