อย. เผย ฟอร์มาลินในการดูแลของ อย.
10 มีนาคม 2557

     อย. ชี้ ฟอร์มาลิน หรือฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใดนำไปใช้ผสมอาหาร ต้องโทษทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งปัจจุบันไม่พบการขึ้นทะเบียน แต่พบการขึ้นทะเบียนทางยา 3 ตำรับ ใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค เผย ทำหนังสือขอความร่วมมือร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน หรือฟอร์มาลดีไฮด์ เพื่อมิให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่าขายให้พ่อค้าแม่ค้า

     ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวการตรวจพบฟอร์มาลินปริมาณสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเลสด ผักสด ผลไม้สด หรือเนื้อสัตว์ ตามท้องตลาดในจังหวัด      ต่าง ๆ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มิได้นิ่งนอนใจโดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหารอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของการควบคุมสารฟอร์มาลินนั้นมีหลายหน่วยงานควบคุมดูแล เนื่องจากมีการนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม การประมง ใช้กับสัตว์ รวมถึงใช้ในทางการแพทย์ด้วย โดย อย. จัดให้ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ขอให้พ่อค้าแม่ค้าคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ห้ามใส่ฟอร์มาลินในอาหารเด็ดขาด นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว พ่อค้าแม่ค้ายังได้รับโทษทางกฎหมายอีกด้วย

     รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีการควบคุมฟอร์มาลิน(Formalin) หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งอยู่ในกลุ่มอัลดีไฮด์(Aldehydes) ให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขเพื่อประโยชน์แก่การฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดพื้น เครื่องสุขภัณฑ์ และวัสดุอื่น ๆ หรือแก้ไขการอุดตันของท่อหรือทางระบายสิ่งปฏิกูล โดยผู้ผลิต นำเข้า จะต้องขอขึ้นทะเบียนและ
ขออนุญาตจาก อย. อย่างถูกต้อง แต่ไม่มีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายดังกล่าวแต่อย่างใด โดยในอนาคตยังยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง อย. ยังได้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนตำรับยาของฟอร์มาลดีไฮด์พบว่า มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ตั้งแต่ ปี 2529 ซึ่งขณะนี้มีสถานะคงอยู่ 3 ตำรับ โดยมีข้อบ่งใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

     รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ อย. ได้จัดทำหนังสือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขาย เพื่อมิให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น อย่าขายฟอร์มาลินให้กับพ่อค้าแม่ค้าเป็นอันขาด เพราะอาจมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือใช้กับอาหารได้ อย่างไรก็ตาม อย. จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เฝ้าระวัง และตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในอาหารอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง  เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการใช้ฟอร์มาลิน หรือวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หรือพบเป็นร้านขายยาขายฟอร์มาลินให้พ่อค้าแม่ค้า ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล : 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนด้วยตัวเองที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

แท็กที่เกี่ยวข้อง
ฟอร์มาลิน
ประพนธ์ อางตระกูล
ฟอร์มาลดีไฮด์
Formalin
Formaldehyde