
อย. เอาจริง ช่วงเดือนเมษายน 57 ลุยจับมือกับ บก.ปคบ. เดินหน้ากวาดล้างร้านขายยาในเขต กทม. ที่ลักลอบขายยาอันตราย Tramadol และยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม ให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี หลังผู้ปกครองร้องเรียนเด็กไปซื้อยา Tramadol มากินแล้วช็อกหมดสติ ตรวจพบร้านขายยากระทำผิดกฎหมาย 6 ร้าน แจ้งข้อหาหลายคดี ย้ำ! ขอให้ร้านขายยาทุกร้านปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบกระทำผิด นอกจากมีโทษทั้งจำและปรับแล้ว อาจถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตขายยา สำหรับเภสัชกรที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ อาจถูกส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมลงโทษทางจรรยาบรรณด้วย
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับตำรวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำทีมโดย พล.ต.ต.นรศักดิ์ เหมนิธิ ผบก. ปคบ. , พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผกก.4 บก.ปคบ. , พ.ต.ท.นิทัศน์ จิตตวิทยานุกูล รอง ผกก.4 บก.ปคบ. และ พ.ต.ท.พยม พูลเขตรกิจ สว.กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีร้านขายยาที่ขออนุญาตถูกต้องลักลอบขายยา Tramadol และยาแก้ไอให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี ซึ่งพบปัญหานำไปผสมเครื่องดื่ม ทำให้เกิดอาการมึนเมา รวมทั้งพบกลุ่มวัยรุ่นมักนำยาแก้ไอไปใช้ในทางที่ผิด โดยเป็นส่วนประกอบในการผลิตยาเสพติด 4x100 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเยาวชนติดยา เสพติด นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานไปซื้อยาแก้ปวด Tramadol มากินแล้วเกิดอาการช็อกหมดสติ นั้น เพื่อกวาดล้างร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมาย และปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 3 - 22 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา อย. จึงได้ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบร้านขายยาในเขต กทม. โดยให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ทำการล่อซื้อยา Tramadol และยาแก้ไอจากร้าน ขายยา ปรากฏพบมีร้านขายยา ที่กระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 6 ร้าน ฐานลักลอบขายยา Tramadol และยาน้ำเชื่อมแก้ไอให้แก่เด็ก ส่วนใหญ่ไม่มีเภสัชกรควบคุมการจ่ายยา ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ขายยาแผนปัจจุบัน นอกเวลาทำการ และขายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างยา ที่ตรวจพบผิดกฎหมายเพื่อประกอบคดีและส่งตรวจวิเคราะห์หาสารอันตราย เช่น ยาแคปซูลสีเหลือง-เขียว บรรจุในซองซิปใส ไม่ระบุชื่อ ไม่มีฉลากยา , ยา PACMADOL® ฉลากระบุ “ยาอันตราย” มีส่วนประกอบยา Tramadol , ยา TRAMACAP มีส่วนประกอบยา Tramadol , ยา MADOLA มีส่วนประกอบยา Tramadol , ยา DITAP Syrup , ยา Tenadrin , ยา Cetrizin Syrup , ยา CEPHENDRYL Syrup รวมทั้งยังพบยาชุดหลากหลายรูปแบบ บรรจุซองซิปใส ประกอบด้วยยาเม็ดกลม ผิวโค้งสีชมพูเข้ม ยาเม็ดกลม ผิวแบนสีฟ้า ยาเม็ดหกเหลี่ยมสีส้ม และยาชุดที่ประกอบด้วย ยาแคปซูลสีฟ้า-แดง ยาเม็ดกลม ผิวโค้งสีชมพูอ่อน ยาเม็ดกลมผิวโค้งสีเหลือง ยาเม็ดหกเหลี่ยมสีชมพู บรรจุซองซิปใส , เป็นต้น
สำหรับรายชื่อร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมาย จำนวน 6 ร้าน ดังนี้
1. ร้านวารีทิพย์เภสัช เลขที่ 903 ถ.เจริญพัฒนา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
2. ร้านขายยาดาชัย์เภสัช เลขที่ 286/3 ถ.เจริญพัฒนา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
3. ร้านท่งแซโอสถ เลขที่ 1115 แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
4. ร้านพรฟาร์มาซี เลขที่ 105/15 ถ.กรุงเทพกรีฑา แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ
5. ร้านขายยาดี-ดรักส์ เลขที่ 627/9 ซอยลาดพร้าว 112 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ
6. ร้านขายยาเภสัชจุฬา เลขที่ 849/5 ซอยวัดไผ่เงิน ถ.จันทน์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ
ในเบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดี ดังนี้
1. ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
2. ไม่จัดให้มีฉลากที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุตามที่กำหนดไว้ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
3. ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
4. ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท
5. เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลาที่เปิดทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท
6. จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการในการควบคุมการจำหน่ายยาอันตราย Tramadol ว่า อย. คำนึงถึงภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา Tramadol ในทางที่ไม่เหมาะสม ทั้งภัยต่อตนเองและสังคม ดังนั้น อย. จึงได้จัดทำหนังสือแจ้งเวียนให้ร้านขายยาทั่วประเทศทราบถึงมาตรการเข้มงวดแล้ว โดยให้จำหน่าย ยาเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ไม่เกิน 20 เม็ด/แคปซูล ต่อรายต่อครั้ง และให้เภสัชกรประจำร้านเท่านั้นเป็นผู้ส่งมอบยาให้แก่ผู้มารับบริการ ที่สำคัญห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีในทุกกรณี รวมทั้งให้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการร่วมกันจัดทำบัญชีซื้อยาและบัญชีการขายยาให้เป็นจริง ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน หากพบร้านขายยาใดฝ่าฝืน นอกจากดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว จะถูกเสนอคณะกรรมการยาให้ความเห็นชอบในการพักใช้ใบอนุญาตขายยาต่อไป และประสานสภาเภสัชกรรมเพื่อพิจารณาลงโทษทางจรรยาบรรณของเภสัชกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดด้วย ส่วนเรื่องของการจำหน่ายยา แก้ไอ อย. ขอปรามร้านขายยาทุกแห่ง อย่าได้จำหน่ายยาแก้ไอให้แก่กลุ่มวัยรุ่นหรือบุคคลใดที่คาดว่าจะนำไปใช้ในทางที่ผิด หากตรวจพบมีความผิดถึงขั้นเข้าคณะกรรมการยา เพื่อพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตและลงโทษทางจรรยาบรรณกับเภสัชกรประจำร้านยาเช่นเดียวกัน ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. ในการทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง หากผู้บริโภคพบข้อมูลยาใดที่ใช้แล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย อย. จะรีบตรวจสอบและจัดทำข่าวเผยแพร่ให้ทราบโดยเร็วที่สุด หากผู้บริโภคพบปัญหาการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการใช้ยาแล้วเกิดอาการแพ้ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 และสายด่วน บก.ปคบ. 1135